วันนี้ (24 ธ.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ถ.มิตรไมตรี เขตดินแดง กทม. โดยสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร และคณะทำงานโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จัดประชุมให้ข้อคิดเห็นในการดำเนินการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีนายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยตัวแทนสำนักการโยธา กรมเจ้าท่า กรมศิลปากร และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เป็นตัวแทนภาครัฐ
แต่ปรากฏว่าในส่วนของกลุ่มคัดค้านโครงการ อย่างภาคีสมัชชาแม่น้ำ 35 องค์กร ซึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วม แต่กลับมีผู้มาร่วมแสดงความคิดเห็นในฝั่งภาคประชาสังคมเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
กทม. แจงทุกประเด็นคัดค้าน
ในที่ประชุม มีการอธิบายชี้แจงถึงประเด็นการคัดค้านต่างๆ เช่น โครงสร้างที่ยื่นออกมาจากฝั่งแม้น้ำ ที่ถูกวิจารณ์ว่าจะกระทบต่อการไหลของน้ำ โดยชี้แจงว่าวิเคราะห์ตามหลักวิศวกรรมแล้ว ไม่เป็นผลกระทบ
ส่วนขยะหรือผักตบชวาที่อาจลอยเข้าไปอยู่ข้างใต้ กทม. ระบุว่า ได้เตรียมแนวทางแก้ไขไว้แล้ว ส่วนพื้นที่สถาปัตยกรรมโบราณ อย่างวัดริมแม่น้ำ จะไม่มีสิ่งปลูกสร้างที่ไปทำลายคุณค่าดั้งเดิม สำหรับบ้านเรือนประชาชนที่รุกล้ำริมน้ำก่อนหน้านี้ 285 หลัง ได้มีการเวนคืนที่ดิน โดยให้เงินชดเชยรวมกว่า 200 ล้านบาท จ่ายไปแล้ว ร้อยละ 70 ทั้งนี้ กทม. แสดงเจตนารมณ์ว่าอยากให้ทุกฝ่ายได้มาพูดคุยหารือ เริ่มต้นกันใหม่
นายไทวุฒิ ขันแก้ว รอง ผอ.สำนักการโยธา กทม. ระบุว่า กรุงเทพมหานคร เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนร่วมภาคประชาชนและภาควิชาการหลายส่วน โดยให้นำข้อมูลมาปรับรูปแบบ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการหารือร่วมกัน โดยกรุงเทพมหานคร ยินดีรับฟังและปรับปรุงแก้ไข ไม่ว่ารูปแบบจะออกมาเป็นแบบใด จะให้มีการลดขนาดเพิ่ม ตัดตอน หรือปรับปรุงส่วนไหนก็แล้วแต่ กทม.ยินดีรับข้อเสนอทั้งหมด เพื่อนำมาดำเนินโครงการให้เกิดภาพที่ดีสุดของโครงการนี้
เราตั้งกรอบไว้คร่าว ๆ ว่าจะใช้เวลารับฟังความคิดเห็นประมาณ 5 เดือน โดยจะมีการหารือ ลงพื้นที่ร่วมกัน หารือร่วมกัน เพื่อนำข้อมูลเดิม แบบเดิมมาปรุงแก้ไขต่อยอด โดยยืนยันว่าปีนี้ จะไม่มีการประมูลจัดจ้าง ใด ๆ จนกว่าจะมีข้อสรุปของแบบก่อสร้าง
ยกเลิกแบบสร้างทางเลียบฯ ก่อน ค่อยคุยกัน
ผู้สื่อข่าวสอบถามเพิ่มเติมไปยังนายยศพล บุญสม ตัวแทนสมัชชาแม่น้ำ ระบุว่า พร้อมที่จะหารือ แต่อยากให้ภาครัฐนำเรื่องของทางเลียบแม่น้ำออกจากแผนการก่อสร้างก่อน เพื่อแสดงความชัดเจนว่ามีเจตนารมณ์ที่จะเริ่มต้นใหม่ โดยไม่เอาทางเลียบเป็นตัวตั้ง พร้อมเสนอให้เปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริง
ผมว่าถ้าท่านผู้ว่าฯ ส่งสัญญาณที่ชัดเจน ว่าเราจะไม่เริ่มคุยด้วยการเอาทางเลียบมาเป็นตัวตั้ง แล้วเปิดกว้างว่าถ้าเราจะตั้งโจทย์ใหม่ นับหนึ่งกันใหม่ มันน่าจะสร้างความมั่นใจ บทสนทนาที่ดึงผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมได้มาก ซึ่งผมถือว่า นั่นคือสิ่งที่สมัชชาแม่น้ำรณรงค์ยืนยันจุดนี้มาโดยตลอด
ตัวแทนสมัชชาแม่น้ำยังระบุอีกว่า หากเป็นไปได้ อยากให้มีเจ้าภาพที่เป็นคนกลางมาจัดกระบวนการคุยแบบนี้มากขึ้น โดยมีทั้งทั้งสองฝ่าย หรือจะมีการตั้งคณะกรรมการทำงานร่วม หรือที่ผ่านมามีส่วนใดที่ทำการศึกษา ก็จะสามารถช่วยต่อยอดการพัฒนาได้ ก็ยินดี
ภาพจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
หลังจากนี้ กทม. มีแผนจะเปิดรับฟังความคิดเห็นในกรอบระยะเวลา 5 เดือน แต่สามารถยืดระยะเวลาออกไปได้จนกว่าจะได้ข้อสรุปร่วมกัน โดยย้ำว่าไม่ได้รีบร้อนที่จะก่อสร้าง และจะไม่มีการประมูลจัดจ้างจนกว่าจะได้มติที่เห็นชอบจากทุกฝ่าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ภาคประชาชนร้องศาลปกครองยุติโครงการทางเลียบเจ้าพระยา