ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ราชกิจจาฯ ประกาศกฎกระทรวงระเบียบจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม

การเมือง
21 ม.ค. 68
18:39
3,127
Logo Thai PBS
ราชกิจจาฯ ประกาศกฎกระทรวงระเบียบจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม
มท.ออกระเบียบใหม่รองรับการสมรสของบุคคลทุกเพศ ตาม พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับที่ 24 ปรับคำเรียก "ชาย-หญิง" เป็น "บุคคล" และ "สามี-ภริยา" เป็น "คู่สมรส" พร้อมเพิ่มความสะดวกในกระบวนการจดทะเบียนครอบครัวและการหย่า

เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2568 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2568 โดยที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2568 

ได้แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดให้บุคคลสองคนไม่ว่าเพศใดสามารถทำการหมั้นหรือสมรสได้ และได้แก้ไขคำว่า ชาย หญิง สามี ภริยา และสามีภริยา เป็น บุคคล ผู้หมั้น ผู้รับหมั้น และคู่สมรส ซึ่งกระทบกับการปฏิบัติงานในการจดทะเบียนและบันทึกทะเบียนครอบครัว ประกอบกับเพื่อให้การปฏิบัติงานในการจดทะเบียนครอบครัวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 รมว.มหาดไทย ออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2568"
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 19 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2541 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"ข้อ 19 เมื่อมีผู้ร้องขอให้นายทะเบียนจดทะเบียนสมรสตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 ให้นายทะเบียนดำเนินการ ดังนี้

(1) ตรวจสอบคำร้อง หลักฐานประจำตัวของผู้รับคำร้องตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 และบุคคลฝ่ายใดที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ถ้าหากมี รวมทั้งสอบสวนบุคคลดังกล่าวให้ทราบ ถึงวัน เวลา สถานที่ที่แสดงเจตนา และพฤติการณ์พิเศษนั้น

(2) ดำเนินการตามข้อ 13 (3) (4) (5) และ (7) สำหรับทะเบียนสมรส (คร.2) ให้ระบุในช่องลายมือชื่อผู้ร้องขอจดทะเบียนสมรสฝ่ายที่เสียชีวิตไปแล้วว่า ผู้ร้องเสียชีวิต เมื่อวัน เวลาใด รวมทั้งบันทึกเพิ่มเติมในช่องบันทึกให้ชัดเจนว่าบุคคลทั้งสองได้ร้องขอจดทะเบียนสมรสด้วยวาจา หรือกริยาต่อบุคคลใด ในวัน เวลา สถานที่ใด และมีพฤติการณ์พิเศษอย่างไรแล้วให้ผู้รับคำร้องตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.จดทะเบียครอบครัว พุทธศักราช 2478 และนายทะเบียนลงลายมือชื่อกำกับไว้

(3) มอบใบสำคัญการสมรส (คร.3) ให้แก่บุคคลฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่หนึ่งฉบับ และเก็บรักษาใบสำคัญการสมรส (คร.3) ฉบับที่เหลือไว้ถ้าบุคคลทั้งสองฝ่าย เสียชีวิต ให้เก็บรักษาใบสำคัญการสมรส (คร.3) ไว้ เพื่อให้ทายาทของบุคคลดังกล่าวมาขอรับไป"

ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในข้อ 22 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2541 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"ข้อ 22 เมื่อมีผู้ร้องขอจดทะเบียนการหย่าโดยนำสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุด และหนังสือรับรองที่แสดงว่าคดีถึงที่สุด เว้นแต่กรณีสำเนาคำพิพากษาของศาลฎีกาไม่ต้องมีหนังสือรับรองที่แสดงว่าคดีถึงที่สุด ซึ่งมีรายละเอียดว่าให้คู่สมรสหย่าขาดจากกัน ให้นายทะเบียนดำเนินการ ดังนี้

(1) ตรวจสอบคำร้อง หลักฐานตามข้อ 8 ของผู้ร้อง สำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดและหนังสือรับรองที่แสดงว่าคดีถึงที่สุด เว้นแต่กรณีสำเนาคำพิพากษาของศาลฎีกาไม่ต้องมีหนังสือรับรองที่แสดงว่าคดีถึงที่สุด

(2) ลงรายการของคู่หย่าในทะเบียนการหย่า (คร.6) และใบสำคัญการหย่า (คร.7) ให้ครบถ้วน

(3) บันทึกข้อความลงในช่องบันทึกของทะเบียนการหย่า (คร.6) ให้ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับศาล เลขที่คดี วัน เดือน ปี ที่พิพากษา และสาระสำคัญของคำพิพากษานั้น

(4) ดำเนินการตามข้อ 20 (3) (4) (5) และ (6) สำหรับในกรณีที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องเพียงฝ่ายเดียวให้เก็บรักษาใบสำคัญการหย่า (คร.7) ฉบับที่เหลือไว้ แล้วแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งมารับไป"

ข้อ 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสอง ของข้อ 35 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2541
"ทะเบียนฐานะของกริยา (คร.20) ให้เป็นไปตามแบบท้ายระเบียบนี้"

ข้อ 6 ให้ยกเลิกความในข้อ 50 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2541 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"ข้อ 50 ทะเบียนครอบครัวให้ใช้แบบพิมพ์ต่าง ๆ ท้ายระเบียบนี้ ดังนี้
(1) คร.2 ทะเบียนสมรส
(2) คร.3 ใบสำคัญการสมรส
(3) คร.6 ทะเบียนการหย่า
(4) คร.7 ใบสำคัญการหย่า
(5) คร.11 ทะเบียนรับรองบุตร
(6) คร.14 ทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
(7) คร.17 ทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรม
(8) คร.22 ทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว
(9) คร.31 ใบบันทึกต่อ"

ข้อ 7 บรรดาบทบัญญัติใดแห่งระเบียบนี้ หรือบทบัญญัติใดที่ออกตามระเบียบนี้ ที่อ้างถึง ชาย หญิง ให้ถือว่าอ้างถึงบุคคล และกรณีที่อ้างถึงสามี ภริยา ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรส ความในวรรคหนึ่งมีให้นำมาใช้บังคับกับบทบัญญัติในหมวด 7 การบันทึกฐานะของภริยา

ประกาศ ณ วันที่ 6 ม.ค.2568
อนุทิน ชาญวีรกูล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 อ่านข่าวอื่น :

เกาะติดเลือกตั้ง อบจ. 68 กับไทยพีบีเอส เสียงท้องถิ่นชี้อนาคตประเทศไทย

สหรัฐฯ ยอมรับแค่ 2 เพศ "ทรัมป์" ยกเลิกใช้ "X" บนเอกสารราชการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง