วันนี้ (26 ธ.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนจาก สกสว. ร่วมกับผู้ประกอบการสวนส้มปางเสี้ยว อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ร่วมแลกเปลี่ยนผลการวิจัยโครงการไร่ส้ม โดยล่าสุดเตรียมทดลองสูตรยาชีวภาพเพื่อใช้รักษาโรคต้นโทรมของส้มเขียวหวาน หรือ กรีนนิ่งส้ม เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะแอมพลิซิลินที่ใช้ในคน หลังพบเกษตรกรนำมาใช้เพื่อรักษาโรคในส้ม จนเริ่มพบการตกค้างในสิ่งแวดล้อม
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ โตอนันต์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจากเกษตรกรสวนส้มใน จ.เชียงใหม่ ประสบปัญหาโรคต้นโทรมของส้มเขียวหวานซึ่งเป็นผลจากการยากำจัดวัชพืช ยาฆ่าแมลงและเชื้อรา โดยขาดความรู้ในการใช้สารเคมีอย่างถูกวิธี จึงก่อให้เกิดปัญหาการสะสมสารเคมีในดินจนดินมีสภาพเป็นกรดค่า (pH 3.0 – 4.5) จนมีการเจริญเติบโตของเชื้อรา Phytophthora parasitica ซึ่งเป็นสาเหตุของโรครากเน่าโคนเน่าในต้นส้มอย่างรุนแรง และเกิดการระบาดของโรคกรีนนิ่งส้มที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Candidatus Liberobacter asiaticus
ผลกระทบจากการเกิดโรคในส้มทำให้เกษตรกรตัดต้นส้มทิ้ง จนพื้นที่ปลูกส้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากพื้นที่ อ.ฝาง แม่อาย และไชยปราการ เคยมีพื้นที่ปลูกส้มกว่า 500,000 ไร่เหลือเพียงกว่า 20,000 ไร่
ใช้แอมพลิซิลินส่งผลดินเป็นกรด
นักวิจัย กล่าวว่า การแก้ปัญหาเบื้องต้นของเกษตรกรคือ นำเทคนิคการฉีดสารปฏิชีวนะแอมพิซิลลิน เข้าสู่ลำต้นส้ม ซึ่งช่วยให้ต้นส้มฟื้นจากอาการต้นโทรมได้ชั่วคราว โดยสารแอมพิซิลลินออกฤทธิ์ในเวลา 3 เดือน โดยสามารถแตกกิ่งก้านที่มีใบสีเขียวเข้มออกดอกและผลได้ แล้วต้นส้มจะเริ่มแสดงอาการทรุดโทรมอีกครั้ง จนเกษตรกรต้องฉีดสารดังกล่าวทุกๆ 3 เดือน
จากการสำรวจ พบว่าสภาพดินของต้นส้มที่ได้รับสารแอมพิซิลลิน มีความเป็นกรดสูง และยังพบอาการโรค รากเน่าโคนเน่าอย่างรุนแรง ถึงแม้ว่าจะมีต้นเขียวสด แต่รากเน่ารุนแรง
เมื่อใช้สารปฏิชีวนะครั้งหนึ่งต้นส้มก็จะกลับฟื้นต้นมา มีแต่ใบส้มเท่านั้น แต่รากส้มกลับเน่า และยังส่งผลให้สภาพดินมีความเป็นกรดหนัก และเกษตรกรยังต้องกลับมาใช้ยาทุกๆ 3 เดือน เมื่อตรวจเชื้อยาในต้นส้ม กลับไม่พบยาปฎิชีวนะ นั่นหมายความว่ายาไม่ได้ช่วยให้ต้นส้มสู้กับโรคกรีนนิ่ง
คาด 1 ปีคลอดยาชีวภาพแก้โรคส้ม
ผศ.ดร.ภก.เฉลิมพงษ์ แสนจุ้ม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้พัฒนาสารธรรมชาติพัฒนาขึ้นมา กับบางตัวที่จุลินทรีย์สร้างขึ้น และบางตัวสกัดจากเปลือกหอยเปลือกปู และนำมาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบางอย่างที่มีฤทธิ์ในการแก้ปัญหาโรคในส้ม เพื่อทดแทนการใช้ยาแอมพลิซิลิน โดยคาดหวังจะหาสารทางเลือก เบื้องต้น เริ่มได้สูตรโครงสร้างจากสารชนิดหนึ่งและมีศักยภาพจากการทดลองในแปลงปลูกส้ม จึงเริ่มเดินหน้าหาสูตรยาแบบคอกเทล 3-4 ชนิดมาอยู่ในตำรับเดียวให้กับเกษตรกรนำไปใช้ทดแทน
ถือเป็นการจับมือของคณะเกษตรศาสตร์ และเภสัชศาสตร์ มช. และเจ้าของสวนส้มปางเสี้ยว ที่ให้ดินที่แปลงทดสอบสวนส้ม แต่ยังเป็นเพียงโครงสร้างสารสูตรเดียว ยังอยู่ระหว่างการรวมสูตรคอกเทลยาตัวใหม่ ซึ่งคาดว่าอีก 1 ปี จะได้เป็นยาสูตรใหม่จากธรรมชาติ
ขณะเดียวกันงานวิจัยในโครงการไร่ส้มคณะวิจัยได้วางแนวทางแก้ปัญหาออกเป็น 3 แนวทาง คือ 1) การแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของดิน โดยการเพิ่มอินทรียวัตถุ และปรับสภาพความเป็นกรด - ด่างของดินให้มีความเหมาะสม (pH 6.5 - 7.0) และส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อให้ใช้สารเคมีอย่างระมัดระวัง 2.การรักษาโรครากเน่าโคนเน่าด้วยการใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ ต่างๆ เพื่อควบคุมเชื้อราสาเหตุโรค การกระตุ้นภูมิต้านทานในต้นส้ม และการบำรุงต้นส้มให้มีระบบรากที่สมบูรณ์แข็งแรง และ 3) การรักษาโรคกรีนนิ่งส้ม ด้วยการกระตุ้นด้วยสารอิลิซิเตอร์ (Elicitor) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มไคติน - ไคโตซาน มีผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันภายในของพืช กระตุ้นการทำงานของยีนต้านทานโรคที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้ต้นส้มมีกลไกต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์สาเหตุโรค และลดการใช้สารปฏิชีวนะแอมพิซิลลินได้อย่างถาวร
นอกจากนี้ การปลูกส้มในบ่อซีเมนต์จะช่วยควบคุมสภาพแวดล้อม ถือเป็นการป้องกันส้มไม่ให้เป็นโรค และการกำหนดปริมาณผลผลิตที่เหมาะสมกับทรงต้น จะช่วยให้ได้ส้มมีคุณภาพดี ราคาสูง สร้างรายได้ให้เกษตรกรต่อไป