วันนี้ (28 ธ.ค.2562) เจ้าหน้าที่จากชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ และชุดพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) และ กอ.รมน.บูรณาการภายใต้ศูนย์พิทักษ์ป่า ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านและแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ม่อนแจ่ม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ บูรณาการภายใต้ศูนย์พิทักษ์ป่า เปิดเผยว่า การลงพื้นที่วันนี้จะทำภายใต้หลักนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ เพื่อลดผลกระทบจากการท่องเที่ยวให้น้อยที่สุด ที่สำคัญพื้นที่นี้เป็นพื้นที่มีความเปราะบางภายใต้ความทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ลุ่มน้ำ 1 และ 2 และยังเป็นพื้นที่อยู่ภายใต้โครงการหลวงที่ส่งอาชีพเกษตรกร
แต่ปัจจุบันพื้นที่ม่อนแจ่ม ชาวบ้านในพื้นที่ปรับเปลี่ยนมาประกอบกิจการรีสอร์ต และบ้านพักตากอากาศ ซึ่งชาวบ้านเป็นผู้ที่อยู่ในโครงการจัดสรรที่ดินให้ทำกินตามมติคณะรัฐมนตรี ปี พ.ศ.2541 มีการรังวัดประมาณ 900 กว่าแปลงรวม 50 กว่าคน นำไปสู่โครงการที่รัฐบาลเตรียมให้การช่วยเหลือ แต่วันนี้มีการท่องเที่ยวเกิดขึ้นประชาชนบางส่วนเปลี่ยนอาชีพ เช่น มีที่ดิน 3 ไร่ แบ่งที่ดินบางส่วนเป็นพื้นที่กางเต็นท์ หรือรีสอร์ต มีรายได้เพิ่มขึ้นมา ด้วยความที่ขยายตัวเร็วมาก จนกระทรวงทรัพย์ฯจะต้องลงมาแก้ปัญหาจึงต้องลงพื้นที่เพื่อชี้แจงกับชาวบ้านเพื่อทำความเข้าใจ กับชาวบ้านว่าจะต้องทำอย่างไร อยู่อย่างไร
นายชีวะภาพ ยังระบุด้วยถึงแผนการจัดการพื้นที่ โดยเตรียมใช้ข้อมูลฐานที่สำรวจไว้แล้วที่มีชาวบ้านที่ทำรีสอร์ตมีประมาณ 50 กว่าคน จะใช้ฐานนี้ในการตรวจสอบ ส่วนที่เกิดขึ้นมาใหม่จะยังไม่พิจารณาและการลงพื้นที่วันนี้มีการพูดคุยกับชาวบ้านและปิดประกาศ คือ
1.ห้ามให้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมโดยเด็ดขาด หากมีการก่อสร้างใหม่ จะจับกุมและดำเนินคดี และหมดสิทธิ์ในที่ดินที่ทางรัฐจะจัดสรรให้ทำกิน
2.จะคัดกรองบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติ 50 กว่าคน เช่น คนจากต่างถิ่น นายทุน ซึ่งจะดำเนินคดีตามกฎหมาย ขณะนี้ดำเนินคดีไปแล้ว 4 คน และวันนี้อาจจะมีเพิ่มอีก 2 คน และจะคัดกรองต่อไป
3.กลุ่มประชาชนที่ทำกิน และเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาจจะมีบางคนที่ก่อสร้างหลุดแปลงออกไป จะเข้าไปชี้แจง และให้รื้อถอนออกไป
ขณะที่แผนการจัดการระยะยาวจะมีการสำรวจโดยละเอียด เพราะการประกอบกิจการรีสอร์ตเกี่ยวกับกฎหมายหลายฉบับ นอกจากกฎหมายป่าสงวน พื้นที่ลุ่มน้ำ 1 และ 2 ยังมีเรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ พ.ร.บ.โรงแรมฯ ซึ่งจะต้องอธิบายให้ชาวบ้านได้เข้าใจว่าจะทำให้ถูกต้อง ตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สำหรับพื้นที่บริเวณดอยม่อนแจ่ม มีพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ มีกลุ่มชาวบ้านที่อาศัยและทำเกษตรกรรมประมาณ 50 กว่าคน ประมาณ 200 ไร่ หลังเข้าตรวจสอบ คัดกรองพื้นที่แล้ว กรมป่าไม้จะเร่งรื้อถอน และพื้นฟู