วันนี้ (3 ธ.ค.2563)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กอุทยานแห่งชาติหมธู่เกาะสิมิลัน โพสต์ข้อมูลว่า รู้สึกเหมือนกันไหม?ดำน้ำสิมิลันช่วงนี้น้ำเย็นแปลกๆ แล้วทำไมถึงเป็นอย่างนี้
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่าปรากฏการณ์ IOD (Indian Ocean Dipole) คือปรากฏการณ์ที่ทำให้น้ำทะเลทางฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย (อันดามันประเทศไทย) เกิดชั้น thermocline ซึ่งหมายถึงการที่น้ำทะเลแยกชั้น เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำมีความแตกต่างกัน
ปกติชั้นเทอร์โมไคลน์จะอยู่ลึก แต่เมื่อเกิด positive IOD ชั้นเทอร์โมไคลน์จะเขยิบขึ้นมาใกล้ผิวน้ำมากขึ้น หากชั้นอุณหภูมิเข้าใกล้ 50 เมตร อาจมีน้ำเย็นเฉียบจากใต้มหาสมุทร พัดเข้ามาในเขตเกาะในอันดามัน โดยเฉพาะสิมิลัน ที่อยู่ขอบทวีป ใกล้ที่ลึกเป็นพิเศษ
ทั้งนี้บริเวณชั้นน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำ ถือเป็นเขตที่สมบูรณ์ที่อุดมด้วยธาตุอาหารต่างๆ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมสัตว์ใหญ่ๆ ที่เราไม่ค่อยเจอในภาวะปรกติ เช่น กระเบนหลังดำ ฉลามเสือ โรนัน ฯลฯ พากันเข้ามาเยี่ยมเยือนอันดามันในปีนี้ ซึ่งหมายรวมไปถึงวาฬชนิดต่างๆที่พากันเข้ามาสิมิลันแบบต่อเนื่อง จนกลายเป็นที่ฮือฮาช่วงสิ้นปี
ภาพวาฬสีน้ำเงิน : กตัญญู วุฒิชัยธนากร Wildencounterthailand
แต่เมื่อมีดีก็ต้องมีแย่ เพราะถึงแม้น้ำเย็นจะทำให้สัตว์ต่างๆ เข้ามาในอันดามันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ส่งผลกระทบเช่นกัน นั่นคือการที่อุณหภูมิน้ำที่ต่ำเกินไป จะทำให้ปะการังอ่อน กัลปังหาเหี่ยวเฉาและหากเกิดรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ปะการังอ่อนอาจตายได้ โดยเฉพาะพวกปะการังอ่อนสีสวยน้ำลึก
จากการสำรวจพบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลที่สิมิลันช่วงนี้ต่ำสุดอยู่ที่ 23 องศาเซลเซียส นักดำน้ำอย่าลืมสวม Wetsuits เพื่อเพิ่มความอบอุ่น
ภาพวาฬสีน้ำเงิน : กตัญญู วุฒิชัยธนากร Wildencounterthailand
คาด IOD กระทบภาพรวมฝนลดลง
จากการตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา เคยเผยแพร่ข้อมูลเรื่องการติดตามและการคาดหมายปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศ โดย 4 ปรากฎการณ์ใหญ่ที่ต้องจับตา คือปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) หรือมีดัชนีวัดค่าความผิดปกติของอุณหภูมิผิวน้ำทะเล อันเนื่องมาจากการเย็นตัวอย่างผิดปกติของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลทางตอนใต้ด้านตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียบริเวณเขตศูนย์สูตร (EAST) และการอุ่นขึ้นอย่างผิดปกติของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลด้านตะวันตกของมหาสมุทรอินเดียเขตศูนย์สูตร(WEST) เรียกว่าปรากฏการณ์ Positive Indian OceanDipole
ภาพ:กรมอุตุนิยมวิทยา
ตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนพ.ค.2562 IOD index เริ่มมีสถานะเป็นบวก จากแบบจำลองการพยากรณ์ IOD index การพยากรณ์ความน่าจะเป็นของสถานการณ์ IOD พบว่าปรากฏการณ์ IOD จะยังคงมีสถานะเป็นบวก ไปจนถึงช่วงเดือนธ.ค.2562 และมีโอกาสกลับมามีสถานะเป็นกลางในช่วงต้นปี 2563 โดยทั่วไปจะส่งผลกระทบ ทำให้ปริมาณฝนรวมบริเวณประเทศไทยมีปริมาณลดลง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"วาฬโอมูระ" วาฬสายพันธุ์หายากโผล่เกาะสิมิลัน