วันนี้ (5 ม.ค.2563) กรณีนพ.รังสฤษฏ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์แพทย์นักอนุรักษ์และนักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ดอยอินทนนท์ไม่ต้องการสิ่งนี้
ภาพเหล่านี้ คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น บนดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติที่เรารักและหวงแหน ขณะนี้มีการสร้างถนนคอนกรีตที่ ทำเป็นฝายน้ำล้น ผ่ากลางลำธารต้นน้ำแม่กลาง หลังหน่วยต้นน้ำฯเพื่อไปยังแปลงปลูกดอกไม้ เท่าที่ผมทราบมา เป็นโครงการของทางทหารอากาศ ซึ่งยังไม่เข้าใจว่าเกี่ยวกับความมั่นคงยังไง และมั่นคงของใคร
ระหว่างก่อสร้าง ย่อมมีทั้งดินตะกอน สิ่งแปลกปลอมมากมายทับถมลงในน้ำ หลังก่อสร้าง เกิดการเปลี่ยนระบบนิเวศน้ำไหลแรงเป็นน้ำไหลเอื่อย น้ำนิ่ง ที่มีออกซิเจนต่ำ ตะกอนทับถมในร่องหลืบซอกหิน ทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำหลากหลายชนิดขาดแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย
ผมและหลายๆคน มีความทรงจำที่พิเศษกับลำธารงดงามสายนี้ หากใครเคยมานั่งพักผ่อนบนก้อนหินกลางน้ำ หย่อนเท้าจุ่มน้ำ ให้น้ำไหลนวดเท้า นั่งมองแสงที่ส่องลอดใบไม้ สะท้อนผิวน้ำระยิบระยับ ฟังเสียงน้ำไหลกระรุกกระริก เฝ้าดูนกกางเขนน้ำหลังเทากระโดดจากก้อนหินก้อนโน้นไปก้อนนี่ จับจิ้งโจ้น้ำกิน น้ำก็ใสเสียจนเห็นปลาตัวเล็กๆหลากหลายชนิดที่ว่ายมาตอดเท้าให้พอจั๊กกะจี้
ภาพ:เฟซบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit
ห่วงระบบนิเวศพัง-วอนหน่วยงานอธิบาย
คนที่เคยมีประสบการณ์เหล่านี้ ย่อมรู้ค่า ของลำธารใสกลางป่าเขาแห่งนี้ดี และรู้สึกเจ็บปวด เมื่อเห็นการกระทำอันหยาบคายต่อธรรมชาติแบบนี้ หลายๆปีที่ผ่านมา กิจกรรมมนุษย์จากหลากหน่วยงาน รวมถึงผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่เกินเลยความสามารถของการรองรับของพื้นที่ถาถม สร้างความพังพินาศ ความเสื่อมของระบบนิเวศอันวิเศษของดอยอินทนนท์ มาโดยตลอด โดยเราได้แต่มองตาปริบๆ
ผมใคร่ขอใช้สิทธิ์ของประชาชนคนหนึ่ง เรียกร้องให้ประชาชนได้มีส่วนรับรู้ ให้ความคิดเห็น มีส่วนร่วมใน การตัดสินใจ ก่อนมีโครงการ หรือการก่อสร้างถาวรใดๆ ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม กระทบต่อระบบนิเวศ ของอุทยานแห่งชาติ
ผมพอเข้าใจและเห็นใจ ทางอุทยานฯ ถึงความยากในการบริหารจัดการพื้นที่นี้ดี เนื่องจากมีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน ต่าง กรม ต่างกระทรวง ต่างพันธกิจ ที่หลากหลายและขัดแย้งกัน อย่างไรก็ดี อุทยานแห่งชาติ ไม่ใช่ของใคร คนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงาน ใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นสมบัติของพวกเราทุกคน ทุกคนควรมีสิทธิ์มีเสียง และบางที เราอาจต้องออกเสียงแทนสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่อาศัยสถานที่แห่งนี้เป็นบ้าน เพราะพวกเขาไม่อาจเรียกร้องใดๆอย่าให้ดอยอินทนนท์ต้องบอบช้ำไปกว่านี้เลยครับ
สั่งชะลอโครงการพร้อมตรวจสอบ 6 ม.ค.นี้
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายกริชสยาม คงสตรี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กล่าวว่า โครงการนี้มีการขออนุญาตทำประโยชน์ในพื้นที่เขตอุทยานอินทนนท์ ตามมาตรา 19 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ เนื่องจากเป็นโครงการร่วมระหว่างอุทยาน และผู้ขอใช้ เพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษาอุทยาน เป็นเรื่องทำเรือนเพาะชำ และการทำถนนข้าม โดยทำเป็นลักษณะของฝายน้ำล้นเพื่อให้สามารถข้ามไปเรือนเพาะชำของมูลนิธิพระมหาธาตุเจดีย์
ยืนยันมีการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว แม้ว่าจะไม่เข้าข่ายทำรายงานสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นการทำฝายน้ำล้นเหมือนสะพานข้ามลำห้วย กว้างไม่เกิน 5 เมตร ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่
จุดที่เทปูนฝายน้ำล้น เป็นร่องห้วยที่มีความลึกในช่วงน้ำหลากจะข้ามไม่ได้เพราะเป็นร่องห้วย เบื้องต้น หลังจากมีข่าวให้มีชะลอการก่อสร้างไว้ก่อน และจะไปตรวจสอบผลกระทบพรุ่งนี้ (6 ม.ค.)
ขณะที่ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่ร้านขายอาหาร และโฮมสเตย์ริมน้ำในหมู่บ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช ได้ถูกคำสั่งกรมป่าไม้ ให้รื้อถอนร้านค้าที่เปปูนคอนกรีตทับโขดหิน และกีดขวางลำน้ำคลองท่าดี เพื่อให้ลูกค้าได้นั่งมาแล้วภายใน 7 วัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ป่าไม้" ขีดเส้น 5 วันรื้อร้านค้าเทคอนกรีตรุกคลองชุมชนคีรีวง
อ้างน้ำกัดเซาะ! เทปูนลงคลองท่าดี 4 เมตรนักท่องเที่ยวนั่งชิล
โผล่อีกร้านอาหารรุก "แก่งน้ำหูแร่" พัทลุง