วันนี้ (16 ม.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายคำตา ไชยเดช ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านป่าเป้า ต.ยางน้อย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ขอความร่วมมือชาวบ้านไม่ให้สูบน้ำจากคลองชลประทานเข้าพื้นที่การเกษตร เพื่อให้น้ำสามารถระบายลงสู่ห้วยกุดกอก แหล่งน้ำดิบผลิตประปาของชุมชนที่น้ำเริ่มแห้งขอด
สำหรับปริมาณน้ำกว่า 30 ล้านลูกบาศก์เมตรที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวายระบายลงมาเติมน้ำในแหล่งน้ำ 25 แห่งใน อ.โกสุมพิสัย เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ บางพื้นที่ยังพบปัญหาเกษตรกรลักลอบสูบน้ำไปใช้เพื่อการเกษตร ทำให้ผู้นำชุมชนต้องจัดเวรยามเฝ้าระวังและขอความร่วมมือเพื่อไม่ให้กระทบกับการใช้น้ำอุปโภคบริโภค
อ.โกสุมพิสัย ยังมีน้ำพออุปโภค-บริโภค
การผันน้ำมาเติมแหล่งน้ำดิบผลิตประปาเป็นมาตรการช่วยเหลือที่ถูกนำมาใช้ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งใน อ.โกสุมพิสัย เพราะบางพื้นที่อยู่ในเขตชลประทานและยังมีน้ำเพียงพอ แม้ว่าจะถูกประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แต่ยังไม่มีพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามหลักเกณฑ์ จึงเยียวยาเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น และยังไม่มีการเสนอขอนำเงินทดลองราชการ 20 ล้านบาทมาใช้ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง
ค่าชดเชยแล้ง "นาข้าว" ไร่ละ 1,136 บ.
การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จะมี 2 ลักษณะ คือการใช้ความช่วยเหลือด้านการเกษตร ผลผลิตเสียหาย เช่น กรณีนาข้าวจะได้รับเงินชดเชยไร่ละ 1,136 บาทไม่เกิน 30 ไร่ ส่วนกรณีภัยพิบัติฉุกเฉินขาดแคลนน้ำอุปโภคแต่ละอำเภอจะต้องสำรวจความเสียหายเพื่อประกาศเขตให้ความช่วยเหลือภัยพิบัติแล้ง เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณเงินทดลองราชการสำหรับนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่
ภัยแล้งกระทบนาข้าวกว่า 100,000 ไร่
จ.มหาสารคาม เป็น 1 ใน 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ถูกประกาศเขตให้ความช่วยเหลือเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ซึ่งป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมหาสารคาม ระบุว่าความเสียหายส่วนใหญ่เป็นนาข้าว รวมพื้นที่กว่า 100,000 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายเพื่อจ่ายเงินชดเชย พร้อมระบุว่าสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ไม่รุนแรง เพราะน้ำในอ่างเก็บน้ำของจังหวัดทั้ง 17 อ่างมีปริมาณน้ำกว่าร้อยละ 60 ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอตลอดฤดูแล้ง