อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
คนกรุงอ่วม! ลมสงบ-เจอภาวะ "ฝาชีครอบ" ทำฝุ่นสะสม
ค่าฝุ่น PM 2.5 กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ยังพุ่งเกินมาตรฐาน
เตือน! ผู้ปกครองดูแลเด็ก "กลุ่มเสี่ยง" ช่วงฝุ่นพิษเกินมาตรฐาน
โพล เผย คนกรุงมองหน่วยงานรัฐไร้ประสิทธิภาพแก้ "วิกฤตฝุ่น"
กรณีที่นักร้องชื่อดัง "โจอี้ บอย" โพสต์เฟซบุ๊ก Apisit Joeyboy Opasaimlikit เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ว่า "สงสัยเหลือเกิน ว่าไม่มีใครกลัวเลยเหรอ? หรือคนที่ต้องรับผิดชอบเค้าไม่กลัวพวกเราเป็นอะไรเลยเหรอ?" และล่าสุดวันนี้ (20 ม.ค.2563) โจอี้ บอยก็ได้โพสต์รูปเครื่องฟอกอากาศ พร้อมระบุข้อความว่า "ในบ้านอย่าคิดว่ารอดกันนะครับ เครื่องฟอกในบ้านนี่เตือนแดงตลอดเวลา #PM25" ซึ่งมีประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ขอบคุณโจอี้ บอย ที่ห่วงใยเรื่องสถานการณ์ฝุ่นละอองที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศในขณะนี้ ทำให้ฝุ่นไม่สามารถลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศได้ ประกอบกับการจราจรที่หนาแน่น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง
ชง ครม.เคาะมาตรการเพิ่มเติมแก้ฝุ่นพิษ
ขณะที่คณะกรรมการควบคุมมลพิษได้ประชุมและวางมาตรการเพิ่มเติมกว่า 12 มาตรการ เพื่อยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยจะเสนอต่อ ครม.สัญจรในวันที่ 21 ม.ค.นี้ ซึ่งเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ อาทิ
- รถบรรทุกขนาดใหญ่ จะห้ามไม่ให้เข้ามาในเวลาช่วงกลางวัน ในเขตกรุงเทพฯ เฉพาะในวันเลขคี่ รวมทั้งมาตรการในการควบคุมรถโดยสารไม่ประจำทาง ที่จะต้องไม่ปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน
- เสนอให้แหล่งปล่อยมลพิษส่วนหนึ่งที่มาจากภาคอุตสาหกรรม ลดกำลังผลิตลง รวมทั้งให้มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด หากผิดไปจากเงื่อนไขในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ให้สั่งพักใบอนุญาต และโรงงานต้องไปฟื้นฟูเพื่อให้ได้ค่าการระบายมลพิษออกมาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- ขอความร่วมมือให้ข้าราชการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว รวมทั้งรถราชการทุกคันที่วิ่งอยู่จะต้องมีการตรวจเช็คและ ปรับปรุงระบบเครื่องยนต์ในการปล่อยควันดำ ซึ่งจะต้องไม่เกินมาตรฐาน
- ด้านการเผาเศษวัชพืชต่างๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบคือกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆ ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวด และออกกฎหมายในแต่ละท้องถิ่นเพื่อใช้บังคับอย่างเข้มงวด
- สำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง ธอส.ก็มีโครงการเพื่อให้รถยนต์เหล่านั้นได้มาถ่ายน้ำมันเครื่องและเปลี่ยนกรอง โดยขอความร่วมมือกับอู่และผู้ประกอบการขายรถ เพื่อลดภาระให้กับประชาชนในช่วงเกิดวิกฤต
ซึ่งมาตรการเหล่านี้ ภาครัฐพยายามที่จะให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันและเป็นข้อบังคับให้หน่วยราชการนำไปปฏิบัติ เพื่อเแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดฝุ่น PM2.5 ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุอีกว่า จนถึงขณะนี้ ค่าฝุ่น PM2.5 จากการวัดของหน่วยงานกรมควบคุมมลพิษและกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสถานีกว่า 54 สถานีครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ โดยค่าฝุ่น PM2.5 ทุกสถานี ยังอยู่ในค่า "สีส้ม" คือไม่เกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ยกเว้นริมถนนสามเสน เขตพระนคร ที่มีค่า PM2.5 อยู่ที่ 95 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ดังนั้นค่าฝุ่น PM2.5 จากสถานีของกรมควบคุมมลพิษและกรุงเทพมหานคร เป็นค่าที่ถูกต้อง เพราะเป็นสถานีที่ได้รับการรับรองจากองค์การ US-EPA และมีมาตรฐานที่ถูกต้อง และมีความแม่นยำ เนื่องจากมีการสอบเทียบอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่มีระบบดักจับค่าความชื้น ไม่ให้ไปเพิ่มตัวเลขในการแสดงค่า PM2.5 ซึ่งปกติแล้ว หากเครื่องมือที่ไม่มีอุปกรณ์ดักจับค่าความชื้นจะส่งผลทำให้การอ่านค่า PM2.5 สูงขึ้นมากกว่าปกติ 2 เท่า พร้อมกันนี้ขอเชิญชวนประชาชนดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Air4Thai ซึ่งจะมีการรายงานค่าฝุ่น PM2.5 ได้ตามมาตรฐานและเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง