วันนี้ (21 ม.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร.) มีมติรับทราบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ 5 รายการ จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) วงเงิน 240,000,000 บาท โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การถ่ายทอดสดการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ 5 รายการดังกล่าวประกอบด้วย (1) การแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน (โตเกียว 2020) (2) การแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาว (โลซาน 2020) (3) การแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว (ปักกิ่ง 2022) (4) การแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเยาวชนฤดูร้อน (ดาการ์ 2022) และ (5) การแข่งขันมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ (หางโจว 2022) ซึ่ง กก. พิจารณาแล้วเห็นควรซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฯ ทั้ง 5 รายการดังกล่าวจากบริษัท แพลนบี มีเดีย จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้บริหารจัดการลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดและการตลาด มูลค่ารวม 480,000,000 บาท (รวมภาษีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องแล้วแต่ไม่รวมค่าดำเนินการด้านเทคนิคการออกอากาศ)
คกก.บริหารกองทุนกีฬาอนุมัติงบฯ 480 ล้านบาท
2. คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2562 มีมติอนุมัติงบประมาณสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ เป็นเงิน 480,000,000 บาท โดยมีเงื่อนไขหากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) สามารถหาผู้สนับสนุนได้มากกว่า 240,000,000 บาท ตามที่นำเสนอคณะกรรมการการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติให้ใช้จ่ายจากแหล่งเงินที่จัดหามาได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้งบประมาณของกองทุนทั้งหมด โดยหากมีรายได้จากการจัดหาให้นำกลับคืนมาให้กองทุนเพื่อเป็นทุนสนับสนุน ส่งเสริมกิจกรรมกีฬาของประเทศชาติต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นการรับรู้จำนวน 20,000,000 บาท ให้ กกท.ใช้จ่ายจากแหล่งงบประมาณอื่นที่ไม่ใช่งบประมาณกองทุน* ดังนั้น กก. จึงจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนจาก กทปส. มาสมทบในวงเงินงบประมาณ 240,000,000 บาท
ก.ท่องเที่ยวฯ ชี้การของบฯ สามารถดำเนินการได้
3. กก.แจ้งว่าการขอรับงบประมาณสนับสนุนในครั้งนี้สามารถดำเนินการได้ตามมาตรา 27 (21) และมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีอำนาจหน้าที่พิจารณาและให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการจัดสรรเงิน กทปส. ตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (คณะกรรมการ กทปส.) เสนอ และมีความสอดคล้องกับมาตรา 52 (1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติให้ กทปส. มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง