ประเทศจีนนำเข้าขยะรีไซเคิลมากเป็นอันดับ 2 ของโลกมากว่า 20 ปี แต่ปัจจุบันรัฐบาลจีนกลับตั้งเป้าลดยกเลิกการนำเข้าทั้งหมดภายในปี 2563
เหตุผลที่รัฐบาลจีนทำเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงขับเคลื่อนของประชาชนที่เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ในเมืองใหญ่
รัฐบาลจีนพบว่า อุตสาหกรรมการรีไซเคิลขยะไม่ได้ทำกำไรมากนัก แต่กลับสร้างมลพิษทางน้ำและอากาศให้กับประเทศ ส่งผลให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพให้กับประชาชน
ปี 2561 จีนประกาศนโยบายต่อต้านมลพิษ กระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของจีนตรวจสอบพบว่าโรงงานรีไซเคิลขยะจำนวน 751 บริษัท จากทั้งหมด 1,162 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 65 กระทำความผิดและละเมิดกฎหมาย และนั่นทำให้โรงงานขยะรีไซเคิลในจีนจำนวนมากปิดตัวลง พร้อมกับคำถามจากหลายฝ่ายว่า แล้วขยะจากหลายประเทศทั่วโลกที่เคยส่งถูกมายังประเทศจีนรวมถึงโรงงานรีไซเคิลที่ปิดตัวลง หายไปไหน?
ธุรกิจรีไซเคิลทุนจีนเติบโตในไทย
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ปัจจุบัน ธุรกิจประเภทการนำวัสดุที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่ หรือ รหัส 38300 เป็นนิติบุคคลที่มีคนไทยถือหุ้นทั้งหมด จำนวน 468 ราย จำนวนเงินลงทุนประมาณ 2,300 ล้านบาท ขณะที่อีก 140 ราย มีเงินลงทุนประมาณ 3,200 ล้านบาท เป็นนิติบุคคลที่มีชาวต่างชาติร่วมลงทุน แบ่งสัดส่วนเป็นนักลงทุนชาวไทยร้อยละ 60 นักลงทุนจีนร้อยละ 28 และชาติอื่นๆ ร้อยละ 12
นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ผู้ศึกษาและติดตามสถานการณ์นำเข้าขยะและของเสียมายังประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า การเกิดขึ้นของโรงงานรีไซเคิลและคัดแยกของเสียที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนของรัฐบาลไทย
ข้อมูลส่วนหนึ่ง ระบุว่า นโยบายส่งเสริมให้ตั้งโรงงานรีไซเคิลและโรงงานคัดแยกขยะรีไซเคิล เป็นนโยบายที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับปริมาณขยะอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมของประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลไทยได้มีการทำข้อตกลงการค้าเสรี ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับหลายประเทศ ซึ่งปัจจุบันอาจมีมากกว่า 10 ฉบับ
สินค้าที่ถูกรวมเข้าไปในข้อตกลงเหล่านี้ มีสินค้ากลุ่มหนึ่งอาจจะเป็นพันรายการ นั่นก็คือสินค้าที่เป็นกลุ่มขยะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นขยะอุตสาหกรรม ขยะชุมชน หรือขยะเทศบาล สิ่งเหล่านี้ถูกเรียกว่า สินค้า ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อประเทศไทยไปทำข้อตกลงเรื่องการค้าเสรีกับประเทศใด ก็จะพ่วงให้สามารถซื้อขายขยะโดยเสรีไม่ต้องผ่านกำแพงภาษี ภาษีทุกรายการจะกลายเป็นศูนย์เปอร์เซนต์ ในขณะเดียวกันกลไกการตรวจสอบของศุลกากรจะผ่อนปรนลงตามข้อตกลงการค้าเสรี องค์การการค้าโลก และองค์การศุลกากรโลกที่ต้องการ ให้ทุกประเทศที่มีข้อตกลงเหล่านี้ ลดความเข้มงวดกวดขันในการตรวจตู้สินค้าลง
นำเข้าขยะรีไซเคิลกดราคารับซื้อของเก่าในประเทศ
ความเคลื่อนไหวในวงการรับซื้อของเก่าและวัสดุรีไซเคิลช่วงปีที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มซาเล้งจากจังหวัดต่างๆ และร้านรับซื้อของเก่าขนาดเล็กออกมาเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ยกเลิกหรือจำกัดปริมาณการนำเข้าเศษกระดาษจากต่างประเทศ หลังจากพบว่าโรงหลอมและผลิตกระดาษนำเข้าเศษกระดาษจากต่างประเทศเข้ามาใช้ผลิตกระดาษ จากตัวเลขการนำเข้าจะเห็นได้ว่าราคาเศษกระดาษลดลงเรื่อยๆ จนทำให้ปัจจุบันซาเล้งขายเศษกระดาษที่กิโลกรัมละ 50 สต.
นายชัยฤกษ์ วงษ์เจริญ ผู้ประกอบการรับซื้อของเก่าและขยะรีไซเคิล จังหวัดพิษณุโลก เป็นผู้ประกอบการรายแรกที่ร้องเรียนไปยังกระทรวงพาณิชย์เมื่อปี 2562 หลังจากเห็นว่าราคารับซื้อเศษกระดาษตกลงอย่างต่อเนื่อง
เขามองว่าหากราคารับซื้อเศษกระดาษยังตกต่ำเช่นนี้จะยิ่งทำให้ซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าระดับรากหญ้าไม่สามารถอยู่รอดได้ จนต้องเลิกทำอาชีพนี้ไปในที่สุด สุดท้ายจะไม่มีใครอยากเก็บขยะมาขาย ส่งผลให้ท้องถิ่นหรือภาครัฐต้องรับภาระกำจัดขยะที่มีจำนวนมากขึ้น
สุดท้าย ปลายทางของขยะที่รีไซเคิลก็จะเดินทางไปสู่บ่อฝังกลบแทนที่จะเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อใช้ซ้ำในอนาคต