ประตูระบายน้ำกั้นลำตะคอง
การสร้างประตูระบายน้ำกั้นลำตะคองไม่ห่างจากจุดสูบน้ำของโรงงานน้ำตาล ซึ่งเพิ่มความสูงระดับน้ำเหนือฝาย ถูกภาคประชาชนมองว่า อาจเอื้อประโยชน์ให้โรงงานน้ำตาล
ประตูระบายน้ำบ้านน้ำเมา ถูกสร้างกั้นลำน้ำลำตะคอง ช่วงบ้านน้ำเมา ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ดำเนินการโดย โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง มีเป้าหมายเพื่อยกระดับน้ำให้สูง ง่ายต่อการส่งน้ำสู่พื้นที่ท้ายฝาย และส่งผลดีต่อพื้นที่การเกษตรกว่า 6 พันไร่ สามารถสูบน้ำไปทำนาปรัง
แต่ประตูระบายน้ำที่สร้างขึ้นเพื่อสาธารณะประโยชน์แห่งนี้ กำลังถูกตรวจสอบโดยเครือข่ายภาคประชาชน กลุ่มเรารักษ์สีคิ้ว ซึ่งคัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ไพรัตน์ แซ่อือ กลุ่มเรารักษ์สีคิ้ว เปิดเผยกับไทยพีบีเอส ว่า ทางกลุ่มทราบว่า มีการสร้างฝายแห่งนี้ หลังจากที่เมื่อปีที่ผ่านมา ( 30 ส.ค. 62) ได้เข้าร่วมประชุมรับฟังการชี้แจงแผนการสูบน้ำจากลำน้ำลำตะคองของบริษัทที่ปรึกษาฯ โรงงานน้ำตาล ที่ก่อสร้างในเขตอำเภอสีคิ้ว ตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาอ้างถึงการเตรียมการสร้างฝายน้ำล้นกั้นลำน้ำลำตะคอง เพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้น ก่อนให้น้ำไหลเข้าจุดสูบน้ำของโรงงาน
ทำให้กลุ่มเรารักษ์สีคิ้วและชาวบ้านในพื้นที่ เข้าตรวจสอบ ซึ่งไม่พบการสร้างฝาย แต่พบว่า ห่างจากจุดจุดสูบน้ำของโรงงานน้ำตาล ในเขตตำบลลาดบัวขาว ไปประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นจุดก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านน้ำเมากั้นลำตะคอง
สั่งรื้อจุดสูบน้ำโรงงานน้ำตาล
โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านน้ำเมา ก่อสร้างเริ่มเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการสร้างแนวท่อและสูบน้ำของโรงงานน้ำตาลแต่การสร้างจุดสูบน้ำของโรงงานน้ำตาล ถูกกลุ่มเรารักษ์สีคิ้วร้องเรียนว่าก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำ ทำให้ภาครัฐรื้อถอนไปก่อนหน้านี้
17 ตุลาคม 2562 ผู้อำนวยการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานครราชสีมามีคำสั่งให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง รื้อประตูระบายน้ำบ้านน้ำเมาเนื่องจากก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำ ล่าสุด โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง ยื่นอุธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณา และยื่นเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดชี้ขาด เนื่องจากเป็นข้อพิพาทของหน่วยงานรัฐ 2 หน่วยงาน ที่ถือกฎหมายคนละฉบับ
ยืนยันว่าการสร้างประตูระบายน้ำบ้านน้ำเมา เพื่อประโยชน์ของเกษตรกร ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับโรงงาน นายชยุธพงศ์ อำรุงสุข กล่าว
การใช้น้ำภาคเกษตรกรรม-อุตสาหกรรม
นายชยุธพงศ์ ยังอธิบายถึงข้อจำกัดของการระบายน้ำจากเขื่อนลำตะคองคือ ไม่สามารถสร้างคลองส่งน้ำเหมือนเขื่อนอื่นๆ การระบายน้ำผ่านลำน้ำลำตะคอง ยากต่อการควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลไปถึงพื้นที่ท้ายน้ำ เพราะพื้นที่ต้นน้ำมีเกษตรกรสูบนำไปทำการเกษตร
เจ้าหน้าที่ชลประทานยืนยันว่ามีแผนจัดการน้ำ และการป้องกันไม่ให้ภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ต้นน้ำ สูบน้ำจนกระทบต่อการอุปโภคบริโภคตลอดช่วงหน้าแล้งนี้
แต่คำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ชลประทาน ไม่ได้ทำให้กลุ่มเรารักษ์สีคิ้วคลายความกังวล พวกเขาเกรงว่า ความต้องการใช้น้ำของโรงงานน้ำตาลในปริมาณมาก อาจเกิดผลกระทบในอนาคต อย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.ครบุรี ที่ชาวบ้านประท้วงว่าโรงงานน้ำตาลมีการสูบน้ำจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน ตลอดทั้งปี เป็นการแย่งน้ำจากเกษตรกร
หากมีโรงงานน้ำตาลมาตั้งในพื้นที่ อ.สีคิ้ว และใช้น้ำจากลำตะคอง รับน้ำจากเขื่อนลำตะคอง ที่ขณะนี้น้ำเหลือน้ำน้อย ก็อาจได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน