เมื่อวานนี้ (4 ก.พ.2563) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานเกี่ยวกับ "สิ่งที่เกิดขึ้น กับธุรกิจ หลัง...งดใช้ถุงพลาสติก" โดยระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 ไทยเริ่มมีการงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ภายใต้กรอบการดำเนินงานของแผนจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561–2573 โดยกรมควบคุมมลพิษ เบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะทำให้ปริมาณถุงพลาสติกหูหิ้วดังกล่าวลดลงอย่างมาก กระทบห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมถุงพลาสติก และเกิดโอกาสของธุรกิจสินค้าทดแทน
ปริมาณใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วปีละ 45,000 ล้านใบ
ที่ผ่านมา ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกดังกล่าวอยู่ที่ราว 45,000 ล้านใบ/ปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เมื่อดำเนินการตามแผนจะทำให้ปี 2563 การใช้ถุงพลาสติกดังกล่าวลดลงราว 29% ของค่าเฉลี่ยการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วของคนไทย หรือราว 13,000 ล้านใบ คิดเป็นมูลค่าราว 2,400 ล้านบาท
และในอนาคตเมื่อมีการขยายความร่วมมือไปในกลุ่มตลาดสดและร้านขายของชำเพิ่มขึ้นจะทำให้เมื่อสิ้นสุดปี 2565 การใช้ถุงพลาสติกดังกล่าวจะลดลงอย่างน้อยราว 64% ของค่าเฉลี่ยการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วของคนไทย หรือราว 29,000 ล้านใบ คิดเป็นมูลค่าราว 5,300 ล้านบาท
กระทบห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรม "ถุงพลาสติก"
การลดการใช้ถุงพลาสติกดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานทั้งรายใหญ่ และ SMEs ต้องเผชิญความท้าทาย ซึ่งภาครัฐควรออกมาตรการสนับสนุน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้
อย่างไรก็ดี การที่ถุงเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ปี 2563 ภาพรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการลดใช้ถุงพลาสติกดังกล่าวจะยังคงเป็นบวกราว 2,191 ล้านบาท เนื่องจากเกิดโอกาสทางธุรกิจสำหรับถุงทดแทน โดยเฉพาะถุงพลาสติกชนิดหนา ถุงผ้าพลาสติก และถุงผ้า ที่จะมีความต้องการราว 410 ล้านใบ คิดเป็นมูลค่าราว 4,630 ล้านบาท
"เศรษฐกิจตลาดถุงหูหิ้ว" มีมูลค่าเป็นลบในปี 65
แต่ในปี 2565 ภาพรวมทางเศรษฐกิจของตลาดถุงหูหิ้วจะเริ่มมีมูลค่าเป็นลบราว 295 ล้านบาท เนื่องจากถุงทดแทนมีอายุการใช้งานที่นาน จึงทำให้ความถี่ในการซื้อซ้ำลดลง ทั้งนี้ แม้ว่าผลสุทธิของตลาดถุงหูหิ้วจะติดลบในระยะข้างหน้า แต่ประเด็นเรื่องความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมที่ได้นั้นไม่อาจประเมินเป็นมูลค่าได้