วันนี้ (10 ก.พ.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา ผู้บังคับหมู่ปืนเล็ก หมวดรักษาการณ์กองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ได้ปล้นอาวุธปืนและกระสุนจากป้อมรักษาการณ์ภายในหน่วย เพื่อนำไปใช้ก่อเหตุร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากนั้น
มีรายงานว่า มีคำสั่งด่วนจาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ให้หน่วยขึ้นตรงกองทัพปฏิบัติตามระเบียบถึงมาตรการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น 4 แนวทาง คือ
1.กองรักษาการณ์ของหน่วยต้องไม่มีกระสุน และไม่มีปืนกล
2.การปฏิบัติให้ถอดลูกเลื่อนออก โดยให้ผู้บังคับกองรักษาการณ์เป็นผู้เก็บรักษา
3.หน่วยที่เป็นกำลังป้องกันชายแดน ให้ปฏิบัติตามระเบียบประจำของหน่วย
4.ผู้บังคับหน่วยทุกระดับ ต้องกำกับดูแลการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด
เช่นเดียวกับ พล.ท.ธัญญา เกียรติสาร แม่ทัพภาคที่ 2 ได้เน้นย้ำให้หน่วยขึ้นตรงของกองทัพภาคที่ 2 เพิ่มมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยมากขึ้น แม้ว่าจะมีมาตรการซึ่งถูกบังคับใช้เป็นระเบียบปฏิบัติอยู่แล้วก็ตาม ขณะเดียวกันยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจเกิดความผิดพลาดที่ จ.ส.อ.จักรพันธ์ รู้จักกับเจ้าหน้าที่ จึงไม่มีใครคาดคิดว่าจะมาปล้นอาวุธที่กองรักษาการณ์ไปนำใช้ก่อเหตุดังกล่าว
ขณะที่ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ยืนยันหลังตรวจสอบพบอาวุธที่ จ.ส.อ.จักรพันธ์ นำไปใช้ก่อเหตุ โดยชิงไปจากป้อมรักษาการณ์คือ ปืนเล็กยาว 11 หรือ เอชเค 33 จำนวน 1 กระบอก พร้อมกระสุน 5.56 จำนวน 40 นัด และชิงไปจากกองร้อยหรือคลังอาวุธคือ ปืนเล็กยาว 11 หรือ เอชเค 33 จำนวน 1 กระบอก พร้อมปืนกล แบบ M-60 จำนวน 1 กระบอก และกระสุน 5.56 จำนวน 736 นัด จากคลังกระสุนกองพันฯ
สำหรับระเบียบการปฏิบัติในการเบิกจ่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ประจําหน่วยจะมีเจ้าหน้าที่ตั้งแต่จ่าสิบเอก ผู้บังคับหมวด และผู้บังคับกองร้อย ดูแลในภาพรวมการเบิกแต่ละครั้ง โดยมีสมุดให้บันทึกชื่อในการเบิก และชนิดของอาวุธอย่างละเอียด และเมื่อนอกเวลาราชการจะมีการล็อคกุญแจ ทั้งนี้การดูแลคลังอาวุธจะมีพลทหารกองประจำการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สดุดี 3 ตำรวจผู้กล้า พลีชีพเหตุกราดยิงโคราช
เปิดปมสังหารเลือด "ธุรกิจนายหน้า" ค้างเงิน 50,000 บาท