เมื่อวานนี้ (13 ก.พ.2563) พล.อ.ต.นพ.อิทธิพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยถึงกรณีตำรวจจับขบวนการอุ้มบุญข้ามชาติว่า อยู่ระหว่างขอข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ว่ามีแพทย์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ เพราะตามหลักการสถานพยาบาลถือว่ามีความผิดก่อน ค่อยเชื่อมโยงมายังแพทย์ จึงจะส่งข้อมูลมายังแพทยสภา หากพบแพทย์เข้าไปเกี่ยวข้องจริงก็จะตั้งคณะกรรมการสอบจริยธรรม ยอมรับว่าคดีลักษณะเช่นนี้เอาผิดกับแพทย์ยาก มักเป็นความสมยอมของทุกฝ่าย
พิจารณาแพทย์ทำผิดคดีอุ้มบุญ 5 คน
เลขาธิการแพทยสภา บอกด้วยว่า ก่อนที่จะมีกฎหมายอุ้มบุญฉบับใหม่ พบแพทย์กระทำความผิดและเข้าสู่กระบวนการของแพทยสภา ทั้งถูกเพิกถอน และพักใช้ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะและขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของแพทยสภาอีก 5 คนในจำนวนนี้ 2 คน พิจารณาใกล้เสร็จแล้ว โดยการพิจารณาลงโทษเริ่มตั้งแต่ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต โดยจะพิจารณาเป็นรายๆ ไปและมีความผิดทางอาญาด้วย
พล.อ.ต.นพ.อิทธิพร คณะเจริญ
ทั้งนี้ หลังปรับแก้กฎหมายอุ้มบุญใหม่ พบคดีเหล่านี้น้อยมาก ซึ่งมองว่ากฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่กรณีนี้อาจต้องพิจารณากันอีกครั้ง ว่าจะปรับเกณฑ์อะไรหรือไม่เนื่องจากมีการอุ้มบุญที่ต่างประเทศ
ชี้จุดอ่อนปฏิบัติงาน-ไม่มีเจ้าภาพหลัก
นพ.ประมวล วีรุตมเสน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า สาระสำคัญของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยี ช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ปี 2558 ไม่ได้มีช่องว่าง เพราะต้องการแก้ปัญหาการรับจ้างอุ้มบุญผิดกฎหมาย แต่มีจุดอ่อนในเรื่องการปฏิบัติงานว่าหน่วยงานใดจะรับผิดชอบหลัก เพราะที่ผ่านมายังเป็นการต่างคนต่างทำเฉพาะหน่วยงาน แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงหรือบูรณาการข้อมูลร่วมกันได้
นพ.ประมวล วีรุตมเสน
โทษอุ้มบุญในจีนสูงสุดขั้นประหารชีวิต
นพ.กำธร พฤกษานานนท์ ประธานกรรมการเวชศาสตร์เจริญพันธุ์ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรับจ้างอุ้มบุญผิดกฎหมายไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่ขบวนการได้ปรับวิธีการ เพราะประเทศกฎหมายไทยมีกฎหมายป้องกัน อีกทั้งประเทศจีนกำหนดให้ผู้กระทำผิด ในฐานคนอุ้มบุญ มีโทษจำคุกมากกว่า 5 ปี ถึงประหารชีวิต และมีโทษปรับหรือริบทรัพย์ด้วย จึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจว่าการรับจ้างอุ้มบุญ นอกจากทำผิดกฎหมายแล้วยังมีความเสี่ยงด้านสุขภาพด้วย
สำหรับประเด็นที่อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมาย ได้เพิ่มสิทธิให้เด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญ สามารถทราบได้ว่าใครเป็นแม่ที่อุ้มท้องและใครเป็นเจ้าของเซลล์สืบพันธุ์
ตั้งครรภ์เพื่อการค้า จำคุกไม่เกิน 10 ปี
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุว่าคดีนี้มีความผิดฐานตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และผู้ที่เป็นนายหน้ารับประโยชน์เพื่อทดแทนการตั้งครรภ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และเตรียมตรวจสอบโรงพยาบาลและคลินิก 9 แห่งที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์
หลังจากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ มีสถานพยาบาลขออนุญาตและขึ้นทะเบียนถูกต้อง 94 แห่ง และแพทย์ที่ทำอุ้มบุญก็ต้องได้รับอนุญาตจากแพทยสภา ซึ่งมีการขออนุญาตอุ้มบุญแล้ว 317 คน ทั้งนี้ กฎหมายห้ามตั้งครรภ์แทน ห้ามซื้อขาย นำเข้าส่งออกอสุจิ-ไข่ตัวอ่อน ห้ามรับจ้างตั้งครรภ์ ห้ามโคลนนิ่ง ห้ามโฆษณา ห้ามมีนายหน้า และห้ามปฏิเสธเด็กที่เกิดจากอุ้มบุญ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตรียมขอออกหมายจับ "นายหน้า-อดีตแม่อุ้มบุญ" 8 คน
แกะรอยขบวนการ "จ้างอุ้มบุญ" ทำไมใช้ไทยเป็นฐาน
จับขบวนการ "จ้างอุ้มบุญ" ส่งทารกไปขายในจีน