จากกรณีที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุขได้ผลักดัน นโยบายผลักดันให้โรงพยาบาลใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันบางรายการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้งนี้ในสื่อสังคมออนไลน์ได้มีการตั้งข้อสังเกตถึงการใช้ยาสมุนไพร
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตจากหลายเพจในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เพจ Remrin ที่ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้สมุนไพรสามารถเป็นทางเลือกได้ แต่ยาบางตัวถูกใส่เป็นนโยบายลงไปในตัวชี้วัดว่าโรงพยาบาลต้องจ่ายสมุนไพรให้คนไข้ตามยอดที่กำหนด ถ้าไม่ถึงเป้า ทำไม่ได้ตามตัวชี้วัดที่กำหนดอาจส่งผลให้ประเมินโรงพยาบาลไม่ผ่าน นำไปสู่การจำกัดงบประมาณ

โพสต์ดังกล่าว มีแพทย์เข้ามาแสดงความเห็น บางส่วนระบุว่า ตนเองก็ต้องพูดกับคนไข้ตรง ๆ ว่า "เขาเอายาออกจากบัญชียา ให้ใช้ยาสมุนไพรแทน แต่หมอไม่รู้จักยาสมุนไพรพวกนี้ หมอคงจ่ายให้ไม่ได้ ถ้าอยากได้ยาที่หมอรักษาจริง ๆ อาจจะต้องจดชื่อยาแล้วไปซื้อเอง"
ขณะที่ เพจ เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล ก็ตั้งข้อสังเกตที่สอดคล้องกันว่า การใช้ยาสมุนไพรถูกกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดด้วย แม้ว่า นายสมศักดิ์ จะให้สัมภาษณ์ว่า อย่าซีเรียส
รวมถึงเพจ Drama-addict ที่ระบุว่า กรณีการใช้ยาสมุนไพรนั้น หากนำมาเป็นยาตัวเลือกสามารถยอมรับได้ แต่หากจะนำมาใช้แทนยาแผนปัจจุบันแบบเบ็ดเสร็จเลยอันนี้ไม่ได้ เพราะยาสมุนไพรก็มีทั้งข้อห้ามใช้ในคนไข้หลายกลุ่มเหมือนกับยาแผนปัจจุบัน หากนำยาสมุนไพรมาแทนที่โดยนำมาใช้กับคนไข้ที่มีข้อห้ามใช้ยาสมุนไพรตัวนั้น อาจจะได้รับผลกระทบได้ เช่น กรณี "เถาวัลย์เปรียง" ซึ่งออกฤทธิ์คล้ายกับยาแก้ปวดในกลุ่ม nsaids ข้อห้ามใช้ก็คล้าย ๆ กัน ที่ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์
รวมถึง ยาตัวอื่น ๆ เช่นฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีข้อห้ามในการใช้ค่อนข้างมาก รวมถึง ยาสมุนไพรอาจจะมี interaction กับยาแผนปัจจุบันได้หลายตัว ถ้าเป็นคนไข้ที่มียาปัจจุบันกินอยู่แล้วและรับยาสมุนไพรเพิ่มบางทีก็ไม่มีข้อมูลว่าจะเกิดผลอะไรตามมาบ้างหลายตัวยังมีงานวิจัยไม่มากพอ
สธ.แจงปมจ่าย "ยาสมุนไพรไทย" ทดแทนบางรายการ
ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก และยาสมุนไพรพื้นฐาน เพื่อให้เป็นทางเลือกแก่โรงพยาบาล ตัวเลขที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ที่ผ่านมามีวงเงินอยู่ 1,000 ล้านต่อปี หากสามารถใช้สมุนไพรทดแทนยาต่างประเทศได้ ก็จะเป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุนคนไทย
พร้อมมองว่า จริงๆเรามีอะไรดีๆ มากมาย แต่ยังไม่มีความมั่นคง เพราะอาจจะทิ้งยาไทยสมุนไพรไทยไปนาน แนวทางนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ใช้สมุนไพรไทยกับอาการเบื้องต้น เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้น

นักข่าวยังสอบถามว่า แนวทางนี้ จะเป็นตัวชี้วัดของโรงพยาบาล ซึ่งเปรียบเสมือนการบังคับให้โรงพยาบาลต้องจ่ายสมุนไพรหรือไม่ นายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า ยังไม่ถึงขนาดนั้น เพียงแต่เป็นทางเลือก พร้อมระบุว่า "อย่าไปซีเรียสมาก"
อย่างท้องเสีย เป็นไข้ ฟ้าทะลายโจร อย่างนี้ก็ใช้ได้ เป็นทางเลือกให้โรงพยาบาล ทั้งนี้ สปสช.ก็จะให้รางวัลกับโรงพยาบาลที่ใช้ตัวเลขที่ใช้ยาพื้นฐานพวกนี้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทย ส่งเสริมภูมิปัญญาไทย อย่าไปซีเรียสมาก
ส่งเสริมใช้ยาสมุนไพร
ขณะที่ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ชี้แจงว่า แนวทางนี้จะเป็นการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรในโรงพยาบาล ซึ่งดำเนินการตามความสมัครใจ เพื่อสร้างระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่งขึ้นในระยะยาว และเป็นการขับเคลื่อนภูมิปัญญาไทยสู่ระดับสากล

โดยจะสนับสนุนให้แพทย์และเภสัชกรจ่ายยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นใน 10 กลุ่มโรคที่พบบ่อย เป็นยาสมุนไพรจำนวน 32 รายการในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรที่ใช้บ่อย มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย เช่น
ยาครีมไพล ใช้แทนยานวด สำหรับบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, ยาแก้ไอมะขามป้อม หรือ ยาประสะมะแว้ง ใช้ทดแทนยาแก้ไอเพื่อบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ , ยามะขามแขก ใช้ทดแทนยาระบายบิซาโคดิล สำหรับอาการท้องผูก เป็นต้น

ทั้งนี้ ข้อมูลมูลค่าการใช้ยาในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ปีงบประมาณ 2567 มูลค่ารวม 70,543 ล้านบาท แบ่งเป็น ยาแผนปัจจุบัน 68,983 ล้านบาท คิดเป็น 97.79% และยาสมุนไพร 1,560 ล้านบาท คิดเป็น 2.21%
อ่านข่าว : อย่าซีเรียส! สมศักดิ์ยันไม่บังคับ รพ. ใช้สมุนไพรแทนยาแผนปัจจุบัน
สธ.เห็นชอบเพิ่ม "ยาสมุนไพร" ในบัญชียาหลักอีก 106 รายการ
ส.อ.ท.กู้วิกฤต 500 โรงงาน “สมุนไพร” เสี่ยงยอดปิดพุ่ง
แท็กที่เกี่ยวข้อง: