วันนี้ (17 ก.พ.2563) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 20-23 ก.พ.นี้ จะเดินทางพร้อมด้วยนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ไปประเทศเกาหลีใต้ เพื่อรับผลการทดสอบแผ่นยางหุ้มแบริเออร์คอนกรีต
ก่อนหน้านี้ กรมทางหลวงชนบทได้ทดสอบเบื้องต้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ และเป็นไปตามสมมุติฐานที่วางไว้ คือ มีความแข็งแรง รวมถึงสร้างความปลอดภัยจากแรงปะทะได้ถึงร้อยละ 30 เมื่อใช้ความเร็วรถ 120 กม./ชม. จากเดิมแบริเออร์คอนกรีตรับได้ 90 กม./ชม.
เหตุผลที่ไปทดสอบที่เกาหลีใต้ เพราะเป็นสถาบันสากลที่ได้รับการรับรองจากทั่วโลก หากรับผลมาแล้วก็จะเริ่มโครงการนี้ในพื้นที่ที่เกิดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุก่อน เพื่อหาค่าเปรียบเทียบสถิติการเกิดอุบัติเหตุก่อนและหลังการติดตั้ง ก่อนขยายผลต่อไป
ภาพ : กรมทางหลวงชนบท
สำหรับเกาะกลางถนนที่มีอยู่เดิมและได้ดำเนินการไปแล้วนั้น จะไม่มีการรื้อ แต่อาจปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยด้วยการติดตั้งแผ่นยางหุ้มแบริเออร์เข้าไปแทน โดยมั่นใจว่าสถิติในเรื่องการเกิดอุบัติเหตุจะลดลง นอกจากนี้แนวทางดังกล่าวมีต้นทุนถูกกว่าการทำเกาะหญ้า และประหยัดต้นทุนการบำรุงรักษามากกว่า
สำหรับแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ ต้นทุนราคาจะเท่าเดิมกับที่เป็นแบริเออร์คอนกรีต หรือประมาณ 6,000 บาท ส่วนแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ที่เอามาครอบคอนกรีตมีราคาไม่เกิน 6,000 บาท โดยในงบประมาณลงทุนดังกล่าวจะไปถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง โดยหลังจากนี้จะลงนามความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการให้สหกรณ์ชาวสวนยางเป็นผู้ผลิตตามรูปแบบและมาตรฐาน
ทั้งนี้ จากตัวเลขปริมาณน้ำยางพาราที่จะใช้อยู่ที่ร้อยละ 80 ซึ่งหมายความว่าต้นทุนแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ ราคา 6,000 บาท เกษตรกรจะได้รับเงิน 4,800 บาท
ภาพ : กรมทางหลวงชนบท
ด้านนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ได้ทดสอบแบริเออร์แบบเรียบ ซึ่งปรับเปลี่ยนรูปแบบจากคอนกรีตแบริเออร์แบบเดิม ด้วยความเร็ว 115 กม./ชม. พบว่าแบริเออร์แบบเรียบสามารถรับแรงปะทะและไม่ทำให้รถที่ชนปะทะแบริเออร์ลอยข้ามไปฝั่งตรงข้าม ซึ่งมีความปลอดภัยกว่าคอนกรีตแบริเออร์ ซึ่งหากการทดสอบที่เกาหลีใต้ได้ผล ในอนาคตถนนที่มีการก่อสร้างใหม่จะใช้แบริเออร์แบบเรียบที่หุ้มด้วยยางพาราทั้งหม
ขณะที่ในปี 2563 กรมฯ จะใช้ยางพารากับหลักนำโค้งและหลักกิโล จากปัจจุบันที่เป็นปูน ซึ่งมีแผนจะทดแทนจำนวน 100,000 ต้น วงเงินกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งถนนทางหลวงชนบทมีหลักนำทางและหลักกิโล ทั้งหมด 700,000 ต้น ซึ่งจะทยอยเปลี่ยนจนครบ โดยหลังจากนี้จะทำเรื่องเสนอกรมบัญชีกลางขออนุมัติในการจัดซื้อตรงจากสหกรณ์ทั่วประเทศ