ไทยพีบีเอส สำรวจปัญหาหนี้สินครูในพื้นที่ จ.นครราชสีมา หลังพบว่าครูบางคนมีหนี้สินในระบบสูงถึง 6,000,000 ล้านบาท ทำให้ในแต่ละเดือน ถูกสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ในฐานะเจ้าหนี้คนแรกหักเกือบหมด เหลือเงินติดบัญชีไม่ถึง 1,000 บาท ทำให้ครูต้องหาช่องทาง เพื่อที่จะให้สามารถยื่นกู้เงินก้อนใหม่ได้ในอนาคต
ครูคนหนึ่งให้ข้อมูล โดยอ้างว่าระหว่างยื่นกู้สหกรณ์วงเงิน 800,000 บาท แต่ถูกเจ้าหน้าที่สหกรณ์ บังคับให้สมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำลำไย ไม่เช่นนั้น หน้าจอในระบบสหกรณ์จะไม่ปลดล็อก และไม่สามารถยื่นกู้ได้อีก
เช่นเดียวกับครูอีกคน ที่อ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู สาขาด่านขุนทด บังคับให้สมัครซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในราคา 8,000 บาท เพื่อให้สามารถกู้เงินในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตครู ได้เต็มวงเงิน 25,000 บาท
หลักฐานใบสมัคร รวมไปถึงการโอนเงินไปยังเจ้าหน้าที่สหกรณ์ เป็นสิ่งยืนยันได้ว่า มีกระบวนการให้ขายตรงแฝงมากับการกู้
ถ้าจะเปิดให้กู้ คนกลุ่มนี้เป็นคนที่เดือดร้อนเรื่องเงิน แค่นิดเเดียวก็จะกู้ และบางคนกู้สามัญมา 6 เดือนก็ไปยื่นกู้ใหม่
พร้อมตรวจสอบธุรกิจเงินกู้แฝงขายตรง
ขณะที่นายสมศักดิ์ จักสาร ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา ระบุว่า โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้กู้จะต้องเสนอโครงการหรือแผนงาน เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติ ที่ผ่านมา ผู้กู้ได้เสนอธุรกิจขายตรงและการประกอบอาชีพอื่นๆ รวม 18 โครงการ
โดยยืนยันว่าสหกรณ์ไม่ได้ร่วมกับธุรกิจขายตรงหรือบังคับสมาชิกสหกรณ์ให้สมัครแต่อย่างใด ยืนยันว่าเป็นไปตามความสมัครใจของสมาชิก
ใครกู้อะไร และจะนำไปทำอะไรก็แล้วแต่สมาชิก ส่วนที่เขากล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าสหกรณ์มีการบังคับ ในส่วนนี้ก็ต้องมีการตรวจสอบว่าเป็นตามคำกล่าวหาหรือไม่ เรื่องนี้ และตรวจสอบได้
การให้สมาชิกออมทรัพย์ครูสหกรณ์นครราชสีมา สมัครเป็นสมาชิกขายตรง เพื่อให้สามารถยื่นกู้ได้ เป็น 1 ในข้อร้องเรียนสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา รวมไปถึงการนำเงินไปปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 650 ล้านบาท เมื่อปี 2554 เป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา ฝ่ายผู้ร้องได้เข้าร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แต่ไม่รับเป็นคดีพิเศษ