วันนี้ (20 ก.พ.2563) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติครั้งที่ 3/2563 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการจากทุกกระทรวง ว่า นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยความปลอดภัยของประชาชน และเจ้าหน้าที่จากสถานการณ์ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยได้ติดตามการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ตั้งแต่เริ่มมีรายงานการระบาดในประเทศจีน
ขณะนี้สถานการณ์ประเทศไทยอยู่ในระยะที่ 2 พบผู้ป่วยคนไทยติดเชื้อในประเทศจากการสัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวชาวจีน จึงต้องมีการเตรียมพร้อมในการรับมือหากเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการระบาดวงกว้างในประเทศ
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า ไม่มีการปิดบัง หรือบิดเบือนตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทย ขอให้ประชาชนมั่นใจในมาตรการ ป้องกันและควบคุมโรคที่ดี เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่เริ่มคัดกรองทุกสนามบิน แจกบัตรคำแนะนำสุขภาพให้นักท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ และสถานบริการต่าง ๆ และที่สำคัญเรามีบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครที่มีความสามารถ ทุ่มเท เสียสละ ขอเชื่อมั่น ให้กำลังใจ และให้ความร่วมมือ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง "อนุทิน" ยืนยันไทยไม่ปิดข่าวตัวเลขคนป่วย-เสียชีวิต COVID-19
24 ก.พ.นี้คาดประกาศ COVID-19 โรคติดต่ออันตราย
ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงข่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ทำให้ประเทศไทยเตรียมพร้อมประกาศภาวะฉุกเฉินโรคติดต่อร้ายแรง ซึ่งมีสัญญาณว่าอีก 2 เดือนสถานการณ์น่าเป็นห่วง
นพ.โสภณ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีประกาศโรคติดต่ออันตราย ในพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ไปแล้ว 13 โรค ส่วนกระบวนประกาศ COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายนั้น ขณะนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการด้านวิชาการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และอยู่ระหว่างการทำร่างประกาศเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อในการประชุมวันจันทร์นี้ (24 ก.พ.) ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกุล รมว.สาธารณสุข เป็นประธานฯ ซึ่งมีคณะกรรมการ 30 ท่าน
คาดว่าจากการรวบรวมข้อมูล 1 เดือน มีความชัดเจนเป็นไปได้ที่จะประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตราย
เพิ่ม COVID-19โรคต่อร้ายแรงลำดับที่ 14
ซึ่งหากมีประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง จะมีกฎหมายบังคับใช้ในกรณีที่มีผู้ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เช่น สิงคโปร์ มีกฏหมายกำหนดให้พักในบ้าน 14 วันถ้ากลับมาจากบางประเทศ ต้องเข้าสู่มาตรการควบคุมเฝ้าระวัง เพื่อให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคติดต่อ ทั้งนี้หลายประเทศยกระดับความสำคัญของโรคนี้สูงกว่าระดับโรคติดต่อทั่วไปมาก่อน
สำหรับประเทศไทย ราชกิจจานุเบกษา เคยประกาศเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2559 ว่าตามประกาศกระทรวงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชื่อและอาการสําคัญของโรคติดต่ออันตราย พ.ศ.2559 มี 13 โรค ได้แก่ กาฬโรค โรคไข้ทรพิษ ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก ไข้เวสต์ไนล์ ไข้เหลือง โรคไข้ลาสซา โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส และวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก หากโรคโควิด-19 ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการฯก็จะเป็นลำดับที่ 14
อ่านข่าวที่เกี่ยว้อง
สธ. ยืนยัน ไวรัส COVID-19 ติดต่อระยะใกล้
แจงยก COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ช่วย จนท.คล่องตัวขึ้น
ญี่ปุ่นเผยผู้โดยสารเรือไดมอนด์ ปริ้นเซส ติดไวรัสเสียชีวิต 2 คน