วันนี้ (21 ก.พ.2563) จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปล่อยเงินกู้ยืมแก่พรรคเป็นจำนวน 191 ล้านบาท ว่าฝ่าฝืนมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
โดยในเวลา 15.00 น. ของวันนี้จะเป็นนาทีตัดสินอนาคตทางการเมืองของทั้งพรรคอนาคตใหม่และสมาชิกพรรค เนื่องจากหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ จะส่งผลถึงกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ที่อาจจะเสี่ยงถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปด้วย
สำหรับกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ปัจจุบัน ตามประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2563 ที่ผ่านมา มีทั้งหมด 15 คน
1. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค (พ้นสภาพ ส.ส.)
2. น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรค ลําดับที่ 1
3. นายชํานาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรค ลําดับที่ 2
4. พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรค ลําดับที่ 3
5. นายรณวิต หล่อเลิศสุนทร รองหัวหน้าพรรค ลําดับที่ 4 (ไม่ได้เป็น ส.ส.)
6. นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค
7. นายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ เหรัญญิกพรรค (ไม่ได้เป็น ส.ส.)
8. นายไกลก้อง ไวทยการ นายทะเบียนสมาชิกพรรค
9. น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค
10. นายสุรชัย ศรีสารคาม กรรมการบริหารพรรค
11. น.ส.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ กรรมการบริหารพรรค
12. นายชัน ภักดีศรี กรรมการบริหารพรรค (ไม่ได้เป็น ส.ส.)
13. นายเจนวิทย์ ไกรสินธุ์ กรรมการบริหารพรรค
14. นายสุนทร บุญยอด กรรมการบริหารพรรค (ไม่ได้เป็น ส.ส.)
15. น.ส.จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กรรมการบริหารพรรค
ขณะที่เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา พล.ท.พงศกร รอดชมภู ได้ประกาศขอลาออกจากกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อแสดงความรับผิดชอบในเรื่องที่ยังพักอยู่ในหน่วยทหาร แต่ยังไม่มีประกาศลาออกอย่างเป็นทางการ จึงยังคงสถานะอยู่ เช่นเดียวกันกับนายนิรามาน สุไลมาน ที่แม้ว่าจะลาออกจากกรรมการบริหารพรรคไปแล้ว แต่จะถูกตัดสิทธิจากการเป็น ส.ส.ด้วย เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาความผิดโดยยึดรายชื่อกรรมการบริหารพรรค ณ วันที่มีการกระทำความผิด ทั้งนี้ สำหรับ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ที่ไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองสามารถย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วัน
บทกําหนดโทษใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง
ทั้งนี้ สำหรับบทลงโทษพรรคการเมือง หากฝ่าฝืนมาตรา 72 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ในมาตรา 126 กำหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองนั้น ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
แต่หากมีคำตัดสินฝ่าฝืนมาตรา 66 ระบุว่า บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละห้าล้านบาทต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้ว พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินวรรคหนึ่งมิได้
บทลงโทษตามมาตรา 124 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 5 ปี ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทําความผิดดังกล่าวเกิดจากการสั่งการหรือการกระทําของบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคล ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคล ซึ่งสั่งการหรือรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้นด้วย
ส่วนมาตรา 125 กำหนดไว้ว่า พรรคการเมืองใดรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดมีมูลค่าเกินที่กําหนดไว้ในมาตรา 66 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกําหนด 5 ปี และให้เงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ส่วนที่เกินมูลค่าที่กําหนดไว้ตามมาตรา 66 ตกเป็นของกองทุน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"พล.ท.พงศกร" ลาออก กก.บห.อนาคตใหม่
"ปริญญา" ชี้แนวทางวินิจฉัยพรรคอนาคตใหม่ปมเงินกู้
ลำดับเหตุการณ์คดียุบพรรคอนาคตใหม่