ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กะเหรี่ยงดอยช้างขอ รมว.ทส. แก้ปัญหาคนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน

ภูมิภาค
28 ก.พ. 63
10:13
1,020
Logo Thai PBS
กะเหรี่ยงดอยช้างขอ รมว.ทส. แก้ปัญหาคนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน
ชาวบ้านและกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ประกาศสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ และพื้นที่จิตวิญญาณกะเหรี่ยง ขึ้นที่บ้านดอยช้างป่าแป๋ ต.แม่พลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน เพื่อเรียกร้องขอให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา

วันนี้ (28 ก.พ.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มชาวบ้าน และภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้ยื่นหนังสือให้กับนายนพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านไปยังนายวราวุฒิ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาให้กับกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า ซึ่งมีเรื่องกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด และร่วมกันประกาศสถาปนาพื้นที่ หมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋ หมู่ 7 ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน เป็นพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ และพื้นที่จิตวิญญาณกะเหรี่ยง โดยอาศัยมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค.2553 สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งประเด็นสำคัญ คือ เจ้าหน้าที่รัฐต้องหยุดดำเนินคดีกับผู้ที่อาศัยอยู่ในป่า และเร่งสำรวจขอบเขตพื้นที่ เพื่อจัดการให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน

 


นายชาญชัย กุละ ผู้ใหญ่บ้านดอยช้างป่าแป๋ เปิดเผยว่า พื้นที่ในหมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋ มีจำนวน 21,034.33 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง 157.97 ไร่ และพื้นที่เกษตร ทำไร่หมุนเวียน 2,707.18 ไร่ โดยอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ที่ผ่านมาชาวบ้านมีเรื่องกระทกกระทั่งกับเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่าไปแล้วหลายราย ทำให้ได้รับความเดือดร้อน พร้อมยืนยันว่าบรรพบุรุษ อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมาหลายร้อยปีก่อนการประกาศเป็นเขตพื้นที่ป่าสงวน จึงต้องการให้ผู้เกี่ยวข้องและรัฐบาลเร่งแก้ปัญหา ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค.2553

 



ด้านนายนพดลระบุว่า ที่ผ่านมานายวราวุฒิ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และต้องการเข้ามาแก้ปัญหา โดยเฉพาะการให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน แต่ชาวบ้านต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งจะดู 3 เรื่องหลัก คือ 1.ตรวจสอบการใช้ที่ดินเพื่อให้มีความมั่นคงในชีวิต ไม่มีการบุกรุกป่าเพิ่ม 2.สิทธิการบริหารจัดการ โดยชาวบ้านต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐกำหนดการบริหารจัดการและมีกฎเกณฑ์การใช้พื้นที่ที่ชัดเจน และ 3.หน่วยงานราชการต้องอำนวยความสะดวก เข้าไปแก้ปัญหาสำรวจและทำความเข้าใจไม่ไช่การจับกุมดำเนินคดีเพียงอย่างเดียว

 



นายประยงค์ ดอกลำไย ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เปิดเผยว่า ปัญหาชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่ากับเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นมาโดยตลอดและกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย หนักสุดคือช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.มีคำสั่งที่ 64 และ 66 /2557 เรื่องการทวงคืนผืนป่า มีชาวบ้านถูกจับกุมดำเนินคดีไปกว่า 6 หมื่น 4 พันคดี ดังนั้นการสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษที่บ้านดอยช้างป่าแป๋ ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน กลุ่มชาวบ้านเพียงต้องการสื่อสารไปยังภาครัฐ ให้เข้าไปดำเนินการแก้ปัญหาตามมติ ครม.วันที่ 3 ส.ค.2553 ให้เป็นรูปธรรมเท่านั้น

 

 

สำหรับการประกาศสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษและพื้นที่จิตวิญญาณชาวบ้านและกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ได้มีการดำเนินการมาแล้วก่อนหน้านี้ 9 พื้นที่กระจายตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และที่บ้านดอยช้างป่าแป๋ ถือเป็นพื้นที่ที่ 10 ซึ่งหลังจากนี้เครือข่ายจะดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ เพิ่มอีก

 



สำหรับนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง ตามมติ ครม.วันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยการจัดการทรัพยากร ประกอบด้วย

1.เพิกถอนพื้นที่ ที่รัฐประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้ อนุรักษ์ สงวน ซึ่งทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีข้อเท็จจริงจากการพิสูจน์อย่างเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าได้อยู่อาศัยดำเนินชีวิตและใช้ประโยชน์ในที่ดังกล่าว

2.ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่พิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม

3.จัดตั้งคณะกรรมการหรือกลไกการทำงานเพื่อกำหนดเขตพื้นที่ในการทำกิน การอยู่อาศัย และการดำเนินวิถีชีวิตตามวัฒนธรรม เพื่อจัดการข้อพิพาทการใช้ประโยชน์หรือการถือครองพื้นที่ของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กับหน่วยงานรัฐ ซึ่งมีองค์ประกอบนอกเหนือจากองค์ประกอบของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานทางด้านวิถีวัฒนธรรมและสิทธิมนุษยชนตลอดจนนักมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา โดยกำหนดอำนาจหน้าที่มุ่งเน้นการส่งเสริมแนวทางการจัดการความขัดแย้งในเชิงสร้างสรรค์

4.ส่งเสริมและยอมรับระบบไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นวิถีวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงที่เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและวิถีพอเพียง รวมทั้งผลักดันให้ระบบไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรม

5.ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวิภาพในชุมชนบนพื้นที่สูง เช่นการรักษาความหลายหลายของการสร้างพันธุ์พืชและสร้างความมั่นคงทางอาหาร การสร้างสมดุลของระบบนิเวศน์ผ่านระบบไร่หมุนเวียน

7.ส่งเสริมสนับสนุนและยอมรับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่และการจัดการของชุมชน ท้องถิ่นดั้งเดิมเช่นการออกโฉนดชุมชนว่าด้วยเรื่องการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง