ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไกด์ไทยวัย 25 ปีกลับจากเกาหลีใต้ป่วย COVID-19 เพิ่ม 1 คน

สังคม
28 ก.พ. 63
12:48
7,194
Logo Thai PBS
ไกด์ไทยวัย 25 ปีกลับจากเกาหลีใต้ป่วย COVID-19 เพิ่ม 1 คน
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผยไทยพบผู้ป่วย COVID-19 เพิ่มอีก 1 คน เป็นไกด์ชาวไทยวัย 25 ปีเดินทางกลับจากเกาหลีใต้ ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร เร่งติดตามผู้ใกล้ชิดตรวจหาเชื้อ

วันนี้ (28 ก.พ.2563) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงความคืบหน้าสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 ระบุว่า พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มอีก 1 คน เป็นชายไทยอายุ 25 ปี มีอาชีพเป็นไกด์นำเที่ยวที่เกาหลีใต้ โดยมีประวัติเดินทางกลับมาจากเกาหลีใต้และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ด้วยอาการไข้ ไอ ซึ่งผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อ COVID-19 ขณะนี้ได้รักษาตัวที่สถาบันบําราศนราดูรแล้ว และเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างติดตามเพื่อนร่วมทัวร์และผู้สัมผัสใกล้ชิดบนเครื่องบิน

ขณะเดียวกันมีผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายแล้ว 28 คน ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 13 คน รวมยอดผู้ป่วยสะสม 41 คน สำหรับผู้ป่วยอาการหนักทั้ง 2 คนที่สถาบันบำราศนราดูร ขณะนี้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อแล้ว ต่ยังต้องรักษาให้ร่างกายฟื้นตัว

ปลัด สธ. กล่าวอีกว่า ล่าสุดประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมในอันดับที่ 12 ของโลก โดยมีผู้ป่วยหายเพิ่มอีก 1 คน เป็นชาวจีนอายุ 30 ปี กลับบ้านได้แล้ว ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อก็กลับบ้านได้แล้วเช่นกัน

3 ระดับกักตนเองเพื่อป้องกันโรค

จากข้อมูลระบาดวิทยาทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ พบว่าผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นบุคคลในครอบครัว และบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ใส่ PPE ตามมาตรฐาน ดังนั้นมาตรการการเฝ้าระวังและคำแนะนำในการปฏิบัติตัว จึงต้องมีการกักกันตนเอง (Self-Quarantine at home) ตามมาตรฐานการป้องกันโรค โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ

กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่มีความจำเป็นต้องแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกตอาการ

  • ผู้เข้าข่ายเกณฑ์สอบสวนโรค กลุ่มนี้มีทั้งอาการและประวัติเสี่ยง ต้องแยกกักอย่างเข้มงวด
  • ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อสูง กลุ่มนี้ไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงสูงต่อการรับเชื้อจากผู้ป่วย หรือผู้สงสัยว่าป่วย ได้แก่ ผู้สัมผัสในครัวเรือน เพื่อนร่วมชั้นเรียน เพื่อนร่วมทำงาน ร่วมยานพาหนะ ที่มีสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ตามนิยามของกรมควบคุมโรค รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ใส่ PPE ตามมาตรฐานในขณะที่ให้การดูแลผู้ป่วยดังกล่าวในกลุ่มนี้ มีความจำเป็นต้องกักกันตนเองอย่างเคร่งครัด 14 วัน ไม่คลุกคลีกับผู้อื่น งดกิจกรรมทางสังคม งดไปทำงาน งดไปโรงเรียน แยกของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น

กลุ่มที่ 2 กลุ่มไม่สัมผัสกับผู้ป่วย แต่มีความเสี่ยง

  • ผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ระบาดของโรค แต่ไม่มีอาการเจ็บป่วย ขอให้ปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยลดกิจกรรมทางสังคม ให้สังเกตอาการป่วยอยู่ที่บ้าน เฝ้าระวังตนเอง 14 วัน หลีกเลี่ยงไปในที่สาธารณะ หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ต้องพบแพทย์ทันที

กลุ่มที่ 3 ผู้ที่อยู่ในชุมชนเดียวกันกับผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป

  • ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข คือ กินร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหากไปในที่ที่มีคนอยู่มาก

ขณะที่ สธ.ขอให้ประชาชนเข้าใจว่าผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค ทุกคนไม่ใช่ผู้ป่วย หรือผู้ที่ถูกรับตัวเข้าไว้สังเกตอาการก็ไม่ใช่ผู้ป่วย COVID-19 ทุกคน โดยขอให้เห็นใจและส่งกำลังใจ อย่ารังเกียจ อย่าตีตรา อย่าล้อเลียนผู้ป่วย หรือผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค ซึ่งทุกคนที่ป่วยและเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอยู่ในระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคแล้ว ความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้คนรอบข้างและสังคมมีโอกาสน้อย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่พบถือว่าเป็นกรณีศึกษาให้ประชาชนตระหนักว่าการปกปิดข้อมูลเป็นผลเสียกับตัวผู้ป่วยเอง สังคมรอบข้าง และประเทศชาติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธนาคารเพิ่มมาตรการป้องกัน "ลูกค้า-พนักงาน" จากไวรัส COVID-19

สธ.แนะผู้ป่วยไข้หวัดสวมหน้ากากอนามัย รับผิดชอบสังคม

"เกาหลีใต้" ตรวจหาไวรัสสมาชิกลัทธิกว่า 2 แสนคน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง