ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ฟ้องกรมศิลป์ อดีตอธิบดีเซ็นทิ้งทวน ยกพื้นที่โบราณสถานให้โรงโม่

ภูมิภาค
5 มี.ค. 63
16:09
4,559
Logo Thai PBS
ฟ้องกรมศิลป์ อดีตอธิบดีเซ็นทิ้งทวน ยกพื้นที่โบราณสถานให้โรงโม่
"ศรีสุวรรณ" เตรียมฟ้องกรมศิลป์ หลังอดีตอธิบดี เซ็นคำสั่งทิ้งทวนก่อนเกษียณ หั่นพื้นที่โบราณสถานเขายะลา 190 ไร่ ทำเหมืองหิน อ้างเพื่อความมั่นคง แต่ชาวบ้านกังวลกระทบภาพเขียนสีพันปี

วันนี้ (5 มี.ค.2563) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ เรื่อง ค้านกรมศิลปากร หั่นพื้นที่โบราณสถานเขายะลา ทำเหมืองหินกระทบภาพเขียนสีพันปี เนื้อหาระบุว่า ตามที่อธิบดีกรมศิลปากรลงนามออกประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ต.ลิดล-ต.ยะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ในวันสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2562 ที่ผ่านมา โดยลดพื้นที่จากกว่า 887 ไร่ ให้คงเหลือ 697 ไร่ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับโรงโม่หิน ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยอ้างปัญหาความมั่นคง ลดความไม่สงบในพื้นที่จึงจำเป็นต้องมาอาศัยแห่งหินอุตสาหกรรมจากภูเขายะลานั้น

การใช้อำนาจดังกล่าว มีข้อพิรุธและย้อนแย้งในตัวเองอยู่หลายประการ ซึ่งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน มิอาจปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจไปโดยอำเภอใจได้ ทั้งนี้เพราะ

1.พื้นที่ภูเขายะลาเป็นแหล่งโบราณคดี ซึ่งมีภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สวยงาม และบ่งบอกถึงอารยะธรรมโบราณ ซึ่งมีอายุราว 1,200-1,500 ปีมาแล้วในสมัยศรีวิชัยซึ่งก่อนหน้านี้มีปรากฎอยู่ถึง 2 แหล่งรอบพื้นที่เขายะลา ถือได้ว่าเป็นมรดกสำคัญของคาบสมุทรภาคใต้และคาบสมุทรสยาม-มาเลย์อย่างยิ่ง และสำคัญมากต่อประวัติศาสตร์ของเมืองยะลาหรือเมืองยาลอมาแต่โบราณ แต่บางภาพได้พังทลาย และเสียหายจากการระเบิดหินในการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองหินไปบ้างแล้ว

2. การแก้ไขหรือหั่นเขตที่ดินโบราณสถานโดยเปิดโอกาสให้กับโรงโม่หินในการขอประทานบัตรระเบิดหินเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างจำนวนกว่า 190 ไร่ มีปริมาณหินสำรองกว่า 33.54 ล้านเมตริกตัน มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท โดยอ้างว่าพื้นที่ จ.ยะลา และใกล้เคียงประสบปัญหาเกี่ยวกับแหล่งหินอุตสาหกรรม เพราะแหล่งหินหลายแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคง จึงจำเป็นต้องมาใช้แหล่งหินจากภูเขายะลาแทนนั้น เป็นเหตุผลที่ไร้น้ำหนักเนื่องจากปัจจุบันใน จ.ยะลา มีการขอประทานบัตรทำโรงโม่หินอยู่ถึง 9 โรงใน ต.ลิดล อ.เมืองยะลา และ ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง ต.บันนังสตา มีปริมาณหินสำรองมากถึง 634.45 ล้านเมตริกตัน มูลค่ากว่า 1.14 แสนล้านบาท มิได้ขาดแคลนตามอ้างแต่อย่างใด

3.การลงนามแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน เหตุใดจึงลงนามในวันสุดท้ายที่อธิบดีเกษียณอายุราชการ และเหตุใดจึงนำมาประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 26 ก.พ.2563 ซึ่งมีระยะเวลานานถึง 5 เดือน ชี้ให้เห็นว่าจงใจที่จะปิดหูปิดตาประชาชนโดยไม่มีธรรมาภิบาลแต่อย่างใด อีกทั้งไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเสียก่อนตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายกำหนด จึงเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงไม่อาจปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว ใช้อำนาจโดยย่ามใจได้ และจะเป็นแบบอย่างที่ไม่พึงประสงค์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของการตั้งกรมศิลปากรได้ โดยสมาคมฯจะนำความไปยื่นร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการไต่สวน สอบสวน เอาผิดอดีตอธิบดีกรมศิลปากรคนดังกล่าว ในวันพรุ่งนี้ (6 มี.ค.) ที่ สำนักงาน ป.ป.ช. และหลังจากนี้จะร่วมกับชาวยะลาดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง