เพิงผาที่สูงชันสลับกับต้นไม้ใหญ่และหินธรรมชาติทำให้ เขายาลอ หรือ เขายะลา ที่ติดแนวเขต ต.ลิดล และ ต.ยะลา อ.เมืองยะลาแห่งนี้ เป็นที่อาศัยของสัตว์หลายชนิด ผึ้งหลวงรังใหญ่นับสิบรังและรังค้าวคาวที่อยู่บนซอกหิน ห่างออกมาไม่ไกลนักมีภาพเขียนสีโบราณอายุนับ 1,000 ปี
การออกประกาศของกรมศิลปากร เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ภาพเขียนสีเขายะลา จากเดิมประมาณ 887 ไร่ แต่ถูกปรับลดกว่า 190 ไร่ โดยอ้างว่าจำเป็นต้องใช้เป็นแหล่งหินอุตสาหกรรมเเทนเเห่งอื่นที่มีปัญหาความมั่นคง จึงทำให้ชาวบ้านหลายคนกังวลอย่างมากว่าจะกระทบต่อภูเขาหินแห่งนี้ เนื่องจากอาจเเปิดทางให้มีการเข้ามาสัมปทานระเบิดหินเพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้ภูเขายะลาที่ติดแนวเขต ต.ลิดลบางส่วน ได้เปิดให้มีการสัมปทานระเบิดหิน และทำให้ภาพเขียนสีโบราณพังถล่มมาแล้ว
ระบบนิเวศที่สมบูรณ์รอบเขายาลอทำให้ที่นี่ยังเป็นพื้นที่อนุรักษ์แหล่งน้ำ A 1 ซึ่งมีน้ำธรรมชาติไว้ใช้ล่อเลี้ยงผู้คนที่ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ซึ่งต้องการใช้น้ำมากการออกประกาศของกรมศิลปากร จึงทำให้ชาวบ้านกังวลว่าจะกระทบต่อวิถีชีวิต เนื่องจากเคยเห็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชาวบ้านในตำบลลิดลบางส่วน ที่เปิดให้มีการสัมปทานภูเขายะลาอีกซีกหนึ่งไปแล้ว
ชาวบ้านรายหนึ่งที่เคยอยู่ใน ต.ลิดล ให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอสว่า ก่อนการเปิดสัมปทานบริษัทได้มีการเข้ามากว้านซื้อที่ดินของชาวบ้าน บางคนไม่มีความรู้จึงทำสัญญาเช่าโดยวาจา ซึ่งบางบริษัทสัญญาว่าจะคืนที่ดินให้ หลังเข้ามาทำประโยชน์ไปแล้วประมาณ 20-30 ปี แต่เมื่อผ่านพ้นไป บริษัทก็ไม่ยอมคืนที่ดิน ชาวบ้านก็ไม่กล้าดำเนินคดีหรือฟ้องร้อง
ปัจจุบัน จ.ยะลา มีแหล่งโบราณสถานที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้ คือ ภาพเขียนสีโบราณเขายาลอ ภาพเขียนสีโบราณถ้ำศิลป์และภูเขาวัดถ้ำคูหาภิมุข โดยทั้ง 3 จุด อยู่ใน อ.เมืองยะลา ซึ่งไม่ห่างกันมากนัก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าล้อมรอบแนวเขตโบราณสถานมีบริษัทและโรงโม่หินขนาดใหญ่รายล้อมไม่ต่ำกว่า 6 บริษัท โดยได้รับสัมปทานระเบิดหินแบบผูกขาดมานานหลายปีแล้ว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฟ้องกรมศิลป์ อดีตอธิบดีเซ็นทิ้งทวน ยกพื้นที่โบราณสถานให้โรงโม่