วันนี้ (9 มี.ค.2563) นพ.ธนารักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ COVID-19 ว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 50 คน รักษาหายดีกลับบ้านได้แล้ว 33 คน เสียชีวิต 1 คน ยังมีผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล 16 คน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 1 คน โดยในกลุ่มผู้ป่วยที่รักษาหายกลับบ้านได้ส่วนใหญ่หายเอง ไม่ได้รับยาต้านไวรัส ส่วนผู้ป่วยที่อาการหนักมีการรักษาอย่างเต็มที่ด้วยยาหลายชนิดที่สามารถหาได้
ขณะนี้มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเพิ่มขึ้น 152 คน รวมแล้วขณะนี้มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 4,518 คน ในจำนวนนี้กลับบ้านแล้ว 2,729 คน ส่วนอีก 1,789 คนยังอยู่ระหว่างการรับการรักษา แต่ในส่วนนี้มีความชัดเจนแล้วว่าไม่ติดเชื้อ
นพ.ธนารักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์
แรงงานไทย 186 คนไม่มีไข้ เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง
ส่วนเรื่องการรับแรงงงานไทยนอกระบบกลับจากเกาหลี ขณะนี้รับไว้ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ 186 คน เป็นชาย 88 คน หญิง 98 คน ในจำนวนนี้มีแรงงาน 8 คนเดินทางมาจากเมืองแทกูและคยองซังเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ค่อนข้างมาก และมีกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ 18 คนคือ เด็ก หญิงตั้งครรภ์และผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งทุกคนอาการปกติ ไม่มีไข้ แต่อย่างไรก็ตามจะจะมีการตรวจวัดไข้และสอบถามอาการทุกวัน พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับการดูแลผู้เดินทางจากเกาหลีใต้ มีการจัดกลุ่มผู้เดินทางเป็น 3 กลุ่มคือ ชาวต่างชาติ ผู้เดินทางคนไทย และกลุ่มแรงงาน เมื่อมาถึงประเทศไทยจะมีจุดจอดและพื้นที่คัดแยกจำเพาะ หากพบว่ามีไข้จะนำส่งโรงพยาบาลตามขั้นตอนที่กำหนด หากพบวีซ่าหมดอายุ จะจัดรถเพื่อนำไปส่งยังพื้นที่ควบคุมโรคที่รัฐกำหนด หากเป็นผู้เดินทางอื่นๆ จะถูกส่งตัวไปพื้นที่ควบคุมโรคใกล้ภูมิลำเนา ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดเตรียมไว้ โดยมีระบบเฝ้าระวังติดตามอาการจนครบ 14 วัน
เตรียมใช้ยา "ฟาวิพิราเวียร์" รักษาผู้ป่วย COVID-19
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้กล่าวถึงเรื่องแนวทางการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยตั้งแต่อาการน้อย ไปจนถึงอาการมาก และอาการวิกฤต จึงต้องมีการวางกรอบแนวทางการรักษาร่วมกันหลายสถาบัน และศึกษาจากต่างประเทศในส่วนของข้อมูลเปรียบเทียบด้วย
ส่วนเรื่องยา มีการซื้อยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ชื่อ "ฟาวิพิราเวียร์" ที่ประเทศจีนรับรองในการใช้รักษาผู้ป่วย COVID-19 เข้ามาเพิ่ม ทำให้ขณะนี้มียาอยู่ 40,000 - 50,000 เม็ด โดยพยายามกระจายไปให้ครอบคลุมกับหน่วยบริการที่ดูแลผู้ป่วย เบื้องต้นมีการหารือและมีข้อสรุปจากศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินของกระทรวงสาธารณสุขว่า ยาส่วนหนึ่งอยู่ที่กรมควบคุมโรค โดยมีสถาบันบำราศนราดูร เป็นสถาบันหลักที่ดูแลรักษาผู้ป่วย ส่วนที่ 2 อยู่ที่กรมการแพทย์ ที่ดูแลในส่วนของโรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันโรคทรวงอก เป็นต้น ครอบคลุมไปถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครและเอกชน ส่วนที่ 3 กระจายไปตามเขตสุขภาพ โดยเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในต่างจังหวัด
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์
สำหรับสารตั้งต้นในการผลิตยา ทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) อยู่ระหว่างเจรจากับประเทศที่มีสารตั้งต้น ซึ่งขณะนี้มีการประมาณการตั้งแต่ดีที่สุด จนถึงมีผู้ป่วยมากที่สุด โดยมาตรการต่างๆ ที่จะดำเนินไปหลังจากนี้จะช่วยลดการแพร่ระบาดและลดจำนวนผู้ป่วย พร้อมยืนยันว่าจะมีการประมาณการให้เพียงพอ แต่อย่างไรก็ตามจะต้องปรับตามสถานการณ์เป็นระยะๆ
นอกจากมาตรการทางยาแล้ว ยังมีมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่กระจายและการติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นและได้ดำเนินการในทุกโรงพยาบาลและสถาบันทางการแพทย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มท.ออกมาตรการรับมือผู้เดินทางกลับจากเกาหลีใต้
"ศักดิ์สยาม" ตั้งรางวัลนำจับแรงงานหนีด่าน คนละ 1 หมื่นบาท
อัดคลิปอวดเพื่อน กระดก "โซจู-สูบบุหรี่" ชีวิตดีๆ ที่ศูนย์กักโรค