วันนี้ (11 มี.ค.2563) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อหลายอุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจร้านอาหาร เนื่องจากไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอการเดินทางมาไทย ผู้บริโภคชาวไทยก็หลีกเลี่ยงการเดินทางท่องเที่ยวและรับประทานอาหารในที่ที่มีคนพลุกพล่าน นอกจากนี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจและความเสี่ยงของการเลิกจ้างงาน กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศให้ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในช่วงครึ่งปีแรกการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จะมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจค่อนข้างมาก แต่หากการแพร่ระบาดและการชะลอตัวของเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะทำให้แรงกดดันต่อธุรกิจร้านอาหารผ่อนคลายลงบ้าง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับประมาณการรายได้ของธุรกิจร้านอาหารปี 2563 ลงเหลือ 4.02–4.12 แสนล้านบาท (จากคาดการณ์เดิม ณ ต้นปี ที่ 4.39 แสนล้านบาท) หรือลดลง 2.65 - 3.65 หมื่นล้านบาท
ร้านอาหารเน้น Food Delivery กระทบน้อย คาดยอดขาย 1.79 แสนล้าน
ทั้งนี้ ร้านอาหารเต็มรูปแบบและร้านอาหารที่มีรายได้หลักจากหน้าร้านเพียงอย่างเดียวน่าจะได้รับผลกระทบสูง โดยคาดว่ายอดขายทั้งปีอาจลดลงเหลือเพียง 1.64 แสนล้านบาท ส่วนร้านอาหารที่น่าจะได้รับผลกระทบปานกลาง ได้แก่ ร้านอาหารที่มีการให้บริการอย่างจำกัดที่ลูกค้าต้องสั่งอาหารที่เคาน์เตอร์และบริการตัวเองในบางส่วน รวมถึงร้านอาหารที่มีการกระจายรายได้จากช่องทาง Food Delivery คาดว่ายอดขายในปีนี้จะลดลงเหลือเพียง 0.65 แสนล้านบาท
สำหรับร้านอาหารที่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างจำกัดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น คือร้านอาหารที่มีสัดส่วนรายได้จากช่องทาง Food Delivery สูง หรือร้านอาหารข้างทางที่ซื้อกลับบ้านได้ เนื่องจากมีช่องทางการขายที่หลากหลาย คาดว่า ยอดขายปีนี้น่าจะอยู่ที่ 1.79 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การจัดกลุ่มร้านอาหารนี้เป็นการแบ่งกลุ่มเบื้องต้น ระดับความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อร้านอาหารแต่ละร้าน ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญอีกหลายอย่าง อาทิ ความคุ้มค่า ทำเลที่ตั้ง ระบบการจัดการ ความปลอดภัยของพนักงานและสินค้า