วันนี้ (11 มี.ค.2563) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากาก ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ โดยใช้หน้ากากที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับความเสี่ยง โดยหน้ากากผ้า จึงเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนที่ไม่ป่วย และมีความเสี่ยงต่ำกว่าบุคลากรทางการแพทย์ ที่สำคัญคือสามารถทำเองได้ ทำให้หลายหน่วยงานในภาครัฐสนับสนุนให้ประชาชนตัดเย็บหน้ากากผ้าขึ้นใช้เอง
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ศึกษาชนิดของผ้าต่างๆ ที่น่าจะมีความเหมาะสมในการนำมาใช้ คือ 1.สามารถกันอนุภาคขนาดเล็ก 2.ป้องกันการซึมผ่าน ของละอองน้ำ 3.สามารถนำไปซักได้หลายครั้ง รวมถึงหาได้ง่ายทั่วไป โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบผ้าหลายรูปแบบ เช่น ผ้าฝ้ายดิบ ผ้าฝ้ายมัสลิน ผ้าสาลู ผ้านาโน และผ้ายืต
ผลการทดสอบพบว่ามีผ้า 3 ชนิดคือ ผ้าฝ้ายดิบ ผ้าผ้ายมัสลิน และผ้านาโน เมื่อนำผ้ามาประกอบกัน 2 ชั้น และส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เส้นใยผ้าสามารถกันอนุภาคได้ใกล้เคียงหน้ากากอนามัยทางการแพทย์
อ่านข่าวเพิ่ม ผ้าชนิดไหนทำหน้ากากอนามัยได้ดี ?
"ผ้ามัสลิน" เหมาะทำหน้ากากผ้ามากสุด
นอกจากนี้จากการศึกษาจำนวนครั้ง ของการซักล้างในผ้า 3 ชนิด เพื่อทดสอบการเป็นขุยพบว่า ผ้าฝ้ายดิบและผ้าฝ้ายมัสลิน สามารถซักได้มากกว่า 100 ครั้ง โตยคุณภาพของเนื้อผ้าไม่เสื่อม รวมทั้งการทดสอบประสิทธิภาพการต้านการซึมผ่านของละอองน้ำพบว่า ผ้าฝ้ายมัสลินและผ้าสาลสามารถต้านการซึมผ่านได้ดีที่สุด
จากผลการทดสอบสรุปว่าผ้าฝ้ายมัสลิน มีความเหมาะสมในการนำมาใช้ทำหน้ากากผ้า 2 ชั้นมากกว่าผ้าชนิดอื่น เนื่องจากมีประสิทธิภาพดีหลายด้าน คือสามารถกันละอองน้ำ และเส้นใยผ้าสามารถกันอนุภาคได้ดีกว่าผ้าชนิตอื่น และใช้งานได้หลายครั้ง
ภาพ:กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
อย่างไรก็ตาม เพื่อความสะอาดของหน้ากากผ้าแนะนำให้ซักล้างและตากแห้งทุกวัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทั้งนี้ประชาชนต้องป้องกันตัวเองโดยไม่เอามือไปสัมผัส หน้ากาก ขณะสวมใส่ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคมาติด ซึ่งอาจจะเข้าสู่มูกหรือปากได้และล้างมือบ่อยๆ
ภาพ:กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
พิษ COVID-19 วัดพระแก้วเงียบเหงา-นักท่องเที่ยวลด
ตื่น COVID-19 ลามถึงแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ 70% ขาดตลาด