ผลักดัน "แลนบริดจ์" อีกหนึ่งนโยบายรัฐบาล

เศรษฐกิจ
19 ส.ค. 54
02:43
17
Logo Thai PBS
ผลักดัน "แลนบริดจ์" อีกหนึ่งนโยบายรัฐบาล

ย้อนกลับไปดูโครงการแลนบริดจ์ สงขลา-สตูล หรือ โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลฝั่งอันดามันและอ่าวไทยเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย และ เป็นหนึ่งในโครงการเมกะโปรเจกต์ สมัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีเป้าหมายที่จะยกระดับให้ไทยกลายเป็นศูนย์ขนส่งทางเรือ และ การขนส่งน้ำมันแห่งใหม่ของภูมิภาคอาเซียน แต่โครงการนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจาก เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และ สิ่งแวดล้อม

โครงการแลนบริดจ์ที่เคยสำรวจไว้นั้นจะเป็นการเชื่อมทะเลทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกันด้วยเส้นทางรถไฟ ถนนมอเตอร์เวย์ ท่อส่งน้ำมัน และ ท่อก๊าซ โดยพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันเชื่อมต่อในฝั่งอันดามัน คือ พื้นที่ใกล้กับท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูลส่วนฝั่งอ่าวไทย ที่บริเวณตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา รวมทั้งมีการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ

และมีพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ มีนิคมอุตสาหกรรม ที่มีทั้งอุตสาหกรรมหนักและเบา โดยอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน และ เหล็ก จะอยู่ในฝั่งอ่าวไทย ส่วนอุตสาหกรรมเบาอาจจะอยู่ในฝั่งอันดามัน ซึ่งการพัฒนาระบบขนส่ง ทั้งทางถนน ทางรถไฟ และ ทางท่อ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท

โครงการนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นที่สนใจของภาครัฐเท่านั้น ในส่วนของภาคเอกชนด้านโลจิสติกส์อย่างนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะช่วยประหยัดค่าขนส่ง โดยเฉพาะเรือที่ต้องวิ่งอ้อมแหลมมะละกา ที่อยู่ระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซียระยะทางประมาณ 600 ไมล์ ซึ่งขณะนี้มีความแออัดจากเรือที่ผ่านเข้าออกวันละเกือบ 1,000 ลำ หรือ ตกปีละ 50,000 ลำทำให้ต้องเสียเวลารอนาน 2-3 วัน กว่าจะผ่านไปได้ ซึ่งหากประหยัดเวลาตรงนี้ไปได้ก็จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้มาก

นอกจากนี้หากมีท่าเรือน้ำลึกแล้วจะเกิดอุตสาหกรรมตามมาอีกมากนอกเหนือจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เช่น การซ่อมเรือ สร้างตู้คอนเทนเนอร์ ดูได้จากเกาะปีนังของมาเลเซีย ที่แต่ละปีใช้โอกาสจากการผ่านช่องแคบมะละกา สร้างมูลค่าอุตสาหกรรมตู้คอนเทนเนอร์ไม่ต่ำกว่าปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง