วันนี้ (11 เม.ย.2563) นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข้อมูล เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา มีข่าวปรากฏในสื่อมวลชนกรณีสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสพบว่า ชายไทยอายุ 57 ปี เป็นผู้ป่วย COVID-19 รายที่ 22 ของ จ.นราธิวาส จากการสอบประวัติการเดินทางพบว่า ผู้ป่วยเดินทางเข้าประเทศไทยที่สนามบิน เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2563 แล้วเดินทางต่อโดยขบวนรถด่วนสปรินเตอร์ (กรุงเทพฯ-ยะลา) วันที่ 21 มี.ค.2563 และเดินทางต่อโดยขบวนรถธรรมดาเที่ยวนครศรีธรรมราช-ตันหยงมัส นั้น
การรถไฟฯ รับทราบข้อมูลจากสื่อมวลชนในวันที่ 10 เม.ย.2563 จึงได้สอบสวนข้อมูลกับสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ได้ข้อมูลเพิ่มเติมที่ถูกต้อง คือ ผู้ป่วยมีอายุ 26 ปี ได้ใช้บริการโดยสารรถไฟ เดินทางโดยขบวนรถเร็วที่ 171 วันที่ 21 มี.ค.2563 จากสถานีกรุงเทพฯ-ยะลา รถนอนชั้นที่ 2 นอนปรับอากาศ คันที่ 16 เลขที่ 3 ถึงสถานียะลา เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2563 หลังจากนั้นได้เดินทางต่อโดยขบวนรถโดยสารท้องถิ่นที่ 451 (นครศรีธรรมราช-สุไหงโก-ลก) วันเดียวกัน จากสถานียะลา-ตันหยงมัส และไม่สามารถระบุตู้คันที่โดยสารได้
รฟท.ได้จัดส่งรายชื่อผู้โดยสารที่ร่วมเดินทางในขบวนรถเร็วที่ 171 (กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก) ในวันดังกล่าวให้สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากการโดยสารของผู้ป่วยกับขบวนรถโดยสารท้องถิ่นที่ 451 (นครศรีธรรมราช-สุไหงโก-ลก) เป็นขบวนรถที่ไม่มีการสำรองที่ จึงไม่มีรายชื่อของผู้โดยสาร การรถไฟฯ จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่เดินทางในขบวนระหว่างสถานียะลา-ตันหยงมัส ทราบต่อไป
สำหรับการทำความสะอาดตู้โดยสารดังกล่าวการรถไฟฯ ได้สั่งให้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคตามขั้นตอนแล้ว และได้งดการให้บริการตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.2563 ทั้งขบวนรถเร็วที่ 171 และขบวนรถโดยสารท้องถิ่นที่ 451 แต่เนื่องจากพ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ 22 มี.ค.2563 การรถไฟฯ ได้สั่งการให้สังเกตอาการพนักงานขบวนรถที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยขอความร่วมมือให้ผู้โดยสารและพนักงานที่เดินทางไปกับขบวนรถเร็วที่ 171 กรุงเทพ - สุไหงโกลก วันที่ 21 มี.ค.2563 และขบวนรถโดยสารท้องถิ่นที่ 451 (นครศรีธรรมราช-สุไหงโก-ลก) วันที่ 22 มี.ค.2563 ตรวจหาเชื้อและกักตัวด้วย