วันนี้ (15 เม.ย.2563) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังการเป็นประธานการประชุมผ่านระบบโปรเเกรม ZOOM กับกรมการขนส่งทางบก ว่า ความคืบหน้าการนำระบบเทคโนโลยีแอปพลิเคชันมาใช้ ขณะนี้กรมการขนส่งทางบกได้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.รถยนต์ฯ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งบริการรถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์ ให้สามารถใช้แอปพลิเคชันจัดการการให้บริการแก่ผู้โดยสาร
โดยในที่ 20 เม.ย.นี้ กรมการขนส่งทางบกจะเสนอร่าง พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ที่มีการแก้ไขหลักเกณฑ์ในการให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อเสนอกฤษฎีกา ก่อนเสนอกลับมากระทรวงคมนาคมและเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป ซึ่งหาก ครม.เห็นชอบ จะเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา คาดว่าจะสามารถนำมาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ทันในช่วงสิ้นปี 2563
นอกจากนี้ยังมอบนโยบายให้กรมการขนส่งทางบก ดำเนินการยกระดับการออกใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ประเภทต่างๆ โดยนำตัวอย่างจากต่างประเทศมาใช้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยมีสาระสำคัญ เรื่องการกำหนดสภาวะโรค, การทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย, การอบรมทดสอบความรู้ของผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถภาคทฤฎี จนถึงมาตรการการตัดแต้ม ซึ่งกรมการขนส่งทางบกต้องหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้กฎหมายขนส่งและจราจรบูรณาการร่วมกัน โดยเฉพาะที่มีโทษปรับ ให้มีการตัดแต้มด้วย หลังจากนั้นจะพิจารณาเพิกถอนใบขับขี่ 1 ปี เมื่อครบ 1 ปีจะต้องมาเริ่มการทดสอบใหม่ตั้งแต่ต้น แต่หากถูกตัดแต้มจนหมดจะถูกเพิกถอนการขับรถตลอดชีวิต
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า การดำเนินการให้บริการรถโดยสารสาธารณะทั้งรถแท็กซี่และจักรยานยนต์รับจ้าง ที่จะให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน เข้าไปเป็นเนื้อหากำหนดอยู่ใน พ.ร.บ.รถยนต์ฯ นั้น เป็นไปตามคำแนะนำของสำนักงานกฤษฎีกา โดยสาระสำคัญที่จะบรรจุเข้าไปใน พ.ร.บ.รถยนต์ฯ เช่น การกำหนดคุณสมบัติของผู้ให้บริการ และการวางเงินหลักประกัน หากรณีผู้ให้บริการไปทำให้เกิดความเสียหาย ก็จะมีวงเงินหลักประกันคุ้มครองชดเชยค่าเสียหายให้แก่ประชาชนที่ใช้บริการ ซึ่งหลักประกันจะเป็นวงเงินเท่าไหร่นั้นจะไปพิจารณาในรายละเอียดต่อไป
ส่วนการพัฒนาการออกใบอนุญาตขับขี่ทุกประเภท อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า ได้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อยกมาตรฐานให้การออกใบอนุญาตให้ทัดเทียมกับประเทศในยุโรป ตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสภาพร่างกาย ซึ่งในอนาคตกรมการขนส่งทางบกจะร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการให้ผู้ที่ต้องการสอบใบอนุญาตไปตรวจร่างกายที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และมีการส่งผลตรวจว่ามีสมรรถภาพร่างกายพร้อมในการขับขี่แค่ไหน ออนไลน์ข้อมูลมายังกรมการขนส่งทางบก โดยไม่จำเป็นต้องมีการขอใบรับรองแพทย์มาทำการสอบใบอนุญาตเหมือนในอดีต