ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิกฤต COVID-19 ระบาดนาน 6 เดือน คนจนเพิ่มเป็น 18.9 ล้านคน

เศรษฐกิจ
17 เม.ย. 63
15:45
2,129
Logo Thai PBS
วิกฤต COVID-19 ระบาดนาน 6 เดือน คนจนเพิ่มเป็น 18.9 ล้านคน
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ประเมินวิกฤต COVID-19 แพร่ระบาดนาน 6 เดือนถึง 1 ปี ส่งผลให้รายได้คนไทยกลุ่ม 40% ล่างหายไป 30% และคนจนเพิ่มเป็น 18.9 ล้านคน จากเดิม 6.68 ล้านคน

วันนี้ (17 เม.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินเกี่ยวกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยระบุว่า หากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ลากยาวไปอีก 6 เดือนถึง 1 ปี มีความเป็นไปว่าสัดส่วนคนจนในประเทศไทยจะเพิ่มเป็น 28.4% ของประชากรทั้งหมด จากปี 2561 ที่มีสัดส่วนคนจน 9.9% หรือมีจำนวนคนจนเพิ่มเป็น 18.9 ล้านคน จากปี 2561 ที่มีจำนวน 6.68 ล้านคน

สัดส่วนคนจนอาจเพิ่มเป็น 28% จากวิกฤต COVID-19

ทั้งนี้ การประเมินสัดส่วนคนจนดังกล่าวอ้างอิงจากฐานข้อมูลรายได้ และการกระจายตัวของรายได้ประชากรไทยในปี 2561 ซึ่งคาดว่าจะใกล้เคียงกับข้อมูลปี 2562 ที่จะออกมาในเดือนหน้า เนื่องจากในปี 2562 ที่ผ่านมารายได้ของกลุ่มคนที่มีรายได้ 40% ล่างของประเทศไม่ค่อยขยับจากปี 2561 เท่าใดนัก โดยหากรายได้ของคน 40% ล่างของประเทศ หายไป 10-30% สัดส่วนคนจนจะเพิ่มเป็น 14.3-28.4% ของประชากรทั้งหมด หรือมีจำนวนคนจนเพิ่มเป็น 9.5-18.9 ล้านคน

“ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าคนรายได้หายไปจริงๆ เท่าไหร่ และในความเป็นจริงต้องดูด้วยว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจะลากยาวแค่ไหน หากลากยาวมากๆ เช่น 6 เดือนถึง 1 ปี หรือลากไปถึงต้นปีหน้า รายได้ของคนกลุ่มคน 40% ล่าง จะตกไปถึง 30% แน่ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว สัดส่วนคนจนในประเทศจะเพิ่มเป็น 28% ของประชากรทั้งหมด 66.5 ล้านคน หรือคิดเป็นคนจน 18.9 ล้านคน” นายสมชัย กล่าว

ขณะเดียวกัน สัดส่วนคนจนที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ดังกล่าว ยังทำให้ผลงานในการลดความยากจนของประเทศไทยในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา หายวับไปในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน

เยียวยา 5,000 บาท ไม่ควรใช้อาชีพเป็นเกณฑ์คัดกรอง

นายสมชัย ยังกล่าวถึงการแจกเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ว่า วิธีการแจกเงินของรัฐบาลมีปัญหามาก เพราะบางอาชีพได้เงิน บางอาชีพไม่ได้เงิน ขณะที่การนำระบบ AI มาใช้ในการคัดกรองว่าใครควรได้รับเงินเยียวยาก็พบว่ามีปัญหามาก ทำให้คนที่เดือนร้อนจริงๆ และสมควรได้รับเงินเยียวยาต้องตกหล่นไป ดังนั้น จึงไม่ควรใช้อาชีพเป็นเกณฑ์คัดกรอง แต่ใช้เกณฑ์ของการถือครองที่ดินและทรัพย์สินจะมีความเหมาะสมกว่า

“อย่าไปตั้งโจทย์ว่าใครได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรง เพราะคนถูกกระทบทางอ้อมมีเยอะไปหมด จากนั้นก็มาดูว่าใครบ้างที่มีฐานะดี โดยใช้วิธีคัดกรองแบบเดียวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คือ ใช้ข้อมูลการถือครองที่ดิน บ้าน รถยนต์ และบัญชีเงินฝาก แล้วแยกคนรวยหรือคนที่อยู่ในครอบครัวที่รวยออก หรือหากรัฐบาลจะใช้เกณฑ์ว่าใครที่มีบ้านและที่ดินเกิน 3 ล้านบาท จะไม่ได้เงินเยียวยา ก็จะทำให้มีคนที่ได้เงินเยียวยา 8-9 ล้านคนตามเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้” นายสมชัย กล่าว

เสนอใช้เกณฑ์ถือครองที่ดินคัดกรองแจกเงินเกษตรกร

ส่วนแจกเงินเยียวยาเกษตรกรเดือนละ 5,000 บาท นายสมชัย เสนอว่า ควรใช้เกณฑ์การถือครองที่ดินมาคัดกรอง เช่น เกษตรกรบางรายมีที่ดินเป็นร้อยไร่ไม่ควรจะมีสิทธิ์ เพราะไม่ได้ลำบากจริงๆ และเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรที่มีที่ดินไม่มาก ไม่มีที่ดินหรือต้องเช่าที่ดินทำกิน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังใช้วิธีการว่าต้องหาคนจนให้เจอ หาคนที่ถูกกระทบจากโควิดให้เจอ ซึ่งเป็นกระบวนการซับซ้อนมาก แต่มีวิธีที่ง่ายกว่า คือหาคนรวยให้เจอแล้วคัดกรองออกไปน่าจะดีกว่า

“ถ้าวิธีนี้จะทำให้คนรวยที่มีที่ดินและมีทรัพย์สินมากไม่ได้เข้ามา และไม่มีภาพของการตกหล่น ซึ่งตอนนี้คนที่ตกหล่นมีเยอะไปหมด เช่น คนหาปลาในภาคใต้ หรือบางคนถูกเลิกจ้างและไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม พอไปลงทะเบียน แต่ AI คัดกรองท่าไหนไม่รู้ ทำให้เขาไม่สิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา จะกลับบ้านก็กลับไม่ได้ เพราะบางจังหวัดปิดเมือง เงินหมดกระเป๋า เงินเยียวยาก็ไม่ได้ รัฐบาลตั้งชื่อกันหรูว่าเราไม่ทิ้งกัน แต่ทิ้งกันไปเท่าไหร่ก็ไม่รู้” นายสมชัย กล่าว

แบงก์ชาติชี้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นเติบโตแทบทุกหมวด

ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดไตรมาส 3/2562 พบว่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 13.23 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 79.1% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2562 ที่หนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 13.08 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 78.8% ของจีดีพี โดยหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเติบโตแทบทุกหมวด โดยเฉพาะในหมวดอุปโภคบริโภค เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล

พร้อมกันนั้น ธปท.ยังประเมินว่าหากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้รายได้ของครัวเรือนลดลง 20% จะทำให้กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย 72% ของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยทั้งหมด มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และไม่เพียงพอต่อรายจ่ายดอกเบี้ยรายเดือนที่ค่อนข้างสูงมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง