โครงการ "ขนข้าวชาวนา เปลี่ยนปลาชาวเล" ซึ่งจะเริ่มวันพรุ่งนี้ (20 เม.ย.2563) โดยขนส่งข้าวสารจาก จ.ยโสธร ไปแลกเปลี่ยนปลาแห้งที่ จ.ภูเก็ต และนำปลาแห้งกลับไปส่งที่ จ.โสธร เบื้องต้นกองทัพอากาศได้เตรียมกำลังพล ยานพาหนะ และเครื่องบินไว้พร้อมแล้ว รอการดำเนินการรวบรวมข้าวหอมมะลิและปลาแห้งของแต่ละชุมชน
ที่มาของโครงการฯ เกิดจากชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ต 1,300 คน ขายปลาและสัตว์ทะเลไม่ได้ เนื่องจากร้านอาหารปิดตามการประกาศเคอร์ฟิว ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้พวกเขาเดือนร้อนหนัก แทบไม่มีเงินซื้อข้าวสาร มูลนิธิชุมชนไทยในจังหวัดภูเก็ตออกมาให้ความช่วยเหลือ โดยการรับบริจาคข้าวสาร ซึ่งก็ช่วยได้เพียงแค่ 1-2 วันเท่านั้น เพราะมีผู้ได้รับผลกระทบนับพันคน แต่การช่วยเหลือนี้ยังไปต่อได้ จากน้ำใจของเครือข่ายเกษตรกรชาวนายโสธร ซึ่งเคยร่วมโครงการทัพฟ้าช่วยชาวนา
พลอากาศตรี สมพร แต้พานิช ผู้อำนวยการสำนักกิจการพลเรือน กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ เล่าว่า หลังมีการประสานงานระหว่างมูลนิธิชุมชนไทยในจังหวัดภูเก็ตกับเครือข่ายชาวนายโสธร ทำให้เกิดโครงการ "ปลาแลกข้าว" โดยชาวเลจะนำปลากล้วยเหลืองแปรรูปเป็นปลาแดดเดียว-ปลาหวาน เพื่อมาแลกกับข้าวหอมมะลิของเกษตรกรชาวนาที่ยโสธร ตกลงกันว่าปลา 1 กิโลกรัม ต่อข้าวหอมมะลิ 4 กิโลกรัม
ขณะที่พลอากาศเอก มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เห็นชอบและอนุมัติเป็นตัวเชื่อม "โครงการนำร่อง ทัพฟ้าช่วยไทย ต้านภัยโควิด-19 ขนข้าวชาวนา เปลี่ยนปลาชาวเล" พร้อมสั่งการให้จัดกำลังพลของกองทัพอากาศ ยานพาหนะ และเครื่องบินลำเลียง C-130 ช่วยเหลือชาวเลที่กำลังเดือดร้อนให้เร็วที่สุด โดยการขนข้าวสารจาก จ.ยโสธร ไปแลกเปลี่ยนปลาแห้งที่ จ.ภูเก็ต และนำปลาแห้งกลับไปส่งที่ จ.ยโสธร