วันนี้ (20 เม.ย.2563) นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิดเผยถึงกรณีจากกรณีผู้ใช้ไฟฟ้าหลายรายระบุค่าไฟขยับขึ้นเป็นเท่าตัวว่า หากเกิดจากความผิดปกติของมิเตอร์จะชดเชยเงินส่วนเกินให้ อย่างไรก็ตาม จากการที่เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบบางบ้านพบว่าเหตุที่ค่าไฟสูงกว่าปกติ เนื่องจากมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเปิดเครื่องปรับอากาศ
ทั้งนี้ หากตรวจสอบการคิดค่าไฟของทั้งการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หากเป็นกรณีบ้านที่อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ค่าพลังงานไฟฟ้า จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง โดยหากมีการใช้เยอะ อัตราต่อหน่วยยิ่งแพงขึ้น
150 หน่วยแรก (หน่วยที่ 0-150) 3.2484 บาท, 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151-400) 4.2218 บาท และเกิน 400 หน่วยขึ้นไป (หน่วยที่ 401 ขึ้นไป) 4.4217 บาท
นอกจากนั้นยังมี ค่าบริการ 38.22 บาทต่อเดือน, ค่าไฟผันแปรที่ขณะนี้อยู่ที่ -0.116 คูณด้วยจำนวนหน่วยที่ใช้ และและภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
ใช้ไฟเพิ่มเท่าตัว ค่าไฟเพิ่มกว่าเท่าตัว
สำหรับกรณีบ้านของ แอด. บิล เดือน ก.พ. แจ้งมา 182 หน่วย 684.23 บาท เท่ากับ 150 หน่วยแรก 150x3.2484 = 487.26 บาท ส่วนอีก 32 หน่วย 32x4.2218 = 135.0976 รวมกันเท่ากับ 622.3576 บาท + ค่าบริการ 38.22 บาท เป็น 660.5776 + ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ Ft 182 หน่วย x -0.116 = -21.112 หักจากยอดรวมแล้วเหลือ 639.4656 + ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% 44.7626 = 684.23 บาท
ส่วนเดือน มี.ค. บิลระบุใช้ไฟพุ่งไป 313 หน่วย 1,259.73 บาท 150 หน่วยแรก 150x3.2484 = 487.26 บาท อีก 163 หน่วย 163x4.2218 = 688.1534 รวมกันเท่ากับ 1,175.4134 บาท + ค่าบริการ 38.22 บาท เป็น 1,213.6334 บาท + ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ Ft 313 หน่วย x -0.116 = -36.308 บาท หักจากยอดรวมแล้วเหลือ 1,177.3254 บาท + ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% 82.4128 = 1,259.73 บาท
ทั้งนี้ สรุปได้ว่ายิ่งใช้หน่วยมาก ตัวคูณหน่วยจะยิ่งสูงขึ้น ซึ่งสามารถคำนวณค่าไฟฟ้าเองหรือลองกรอกข้อมูลตามลิ้งก์นี้ได้ที่ https://www.mea.or.th/aboutelectric/116/280/form/12
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง