วันนี้(20เม.ย.63) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกบ้านเตื่อมฝัน หรือ กลุ่มคนไร้บ้านในเมืองเชียงใหม่ ที่พักอาศัยในบ้านเตื่อมฝัน นำถังพลาสติกเก่ามาตัดแบ่ง และเจาะรู เพื่อใช้เป็นภาชนะปลูกต้นพริก และผักต่างๆ ก่อนนำไปไว้ในที่ว่างทุกจุด โดยผลผลิตที่ได้จะนำไปทำอาหาร เลี้ยงสมาชิกประมาณ 30 ชีวิต และแบ่งปันให้แก่เพื่อนคนไร้บ้านในตัวเมือง อีกประมาณ 60 ชีวิต
นายวิเชียร ทาหล้า อาสาสมัคร กลุ่มคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่าที่ บ้านเตื่อมฝัน ได้สร้างพื้นที่แหล่งอาหารมานานแล้ว แต่เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด19 พี่น้องคนไร้บ้าน ที่เคยมีอาชีพเก็บของเก่าขาย หรือ ขายลูกชิ้นทอดในช่วงกลางคืนต่างขาดรายได้ ขณะนี้จึงต้องพึ่งพาพืชผักสวนครัว และ อาหารที่ได้รับบริจาคจากประชาชน และ หน่วยงานต่างๆ พื้นที่สร้างแหล่งอาหาร จึงมีความสำคัญอย่างมากในช่วงวิกฤตโรคระบาด
วิเชียร ทาหล้า อาสาสมัคร กลุ่มคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่
ไม่เฉพาะกลุ่มคนไร้บ้าน แต่เมื่อโรคโควิด-19 ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการจำกัดการเดินทาง และการรวมกลุ่มของคนหมู่มาก ก็ส่งผลให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก ผู้มีรายได้น้อย หรือ กลุ่มคนจนเมือง ต้องเผชิญวิกฤตขาดแคลนอาหาร ยืนยันได้จากจุดแจกอาหารของจิตอาสาไม่ต่ำกว่า 40 จุด ในเมืองเชียงใหม่ ที่มีประชาชนจำนวนมากไปรอรับแจกอาหาร
ล่าสุดแนวคิดสร้างสวนผักในเมือง กำลังถูกสานต่อโดยภาคประชาชน ร่วมกับ เทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อเป็นพื้นที่ผลิตอาหารบรรเทาความเดือดร้อนแก่กลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย
นายศุภวุฒิ บุญมหาธนากร ผู้ร่วมก่อตั้ง ใจบ้าน สตูดิโอ หนึ่งผู้ผลักดันโครงการ บอกว่า คำว่า ความมั่นคงทางอาหารสำหรับคนเมือง อาจฟังเป็นเรื่องไกลตัว เพราะในเขตเมืองแค่เดินไปที่ตลาดสด หรือ ร้านสะดวกซื้อก็สามารถซื้ออาหารได้อย่างสะดวก
ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร ผู้ร่วมก่อตั้ง ใจบ้าน สตูดิโอ
แต่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้เราเห็นว่า คนจนเมืองต้องพึ่งพิงระบบเศรษฐกิจเป็นหลัก และไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง เปรียบได้กับร่างกายของมนุษย์ ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน
เป็นที่มาของแนวคิดว่าในตัวเมืองใหญ่ ควรมีพื้นที่รองรับความเสี่ยง เช่น พื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะต่างๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนที่ลำบาก ตกงาน การมีพืชผักให้เก็บเกี่ยวไปประกอบอาหาร น่าจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้
โดยหลังมีการหารือร่วมกันภาคีเครือข่าย และ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดเทศบาลนครเชียงใหม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ว่าง 3 ไร่ ภายในสุสานช้างคลาน สร้างสวนผักคนเมือง เชียงใหม่ เป็นเวลา 1 ปี เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการพัฒนาเป็นโครงการระยะยาว
ขณะนี้ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ปรับพื้นที่ ซึ่งเคยเป็นที่ทิ้งขยะเมื่อหลายสิบปีก่อน ก่อนจะลำเลียงดินดีจากการขุดลอกแม่น้ำปิงมาถมปรับให้เป็นแปลงเพาะปลูก ตามแบบแปลนที่ออกแบบไว้
จากนั้นจะเริ่มระดมทุนสร้างระบบน้ำเพื่อการเกษตร ควบคู่กับการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ โดยนอกจาก สร้างสวนผักคนเมือง เชียงใหม่ จะเป็นแหล่งผลิตอาหารแล้ว ยังจะเป็นพื้นที่ในการให้ความรู้ จัดอบรม เพาะเมล็ดพันธุ์ เพาะเห็ด หรือ เลี้ยงไก่ไข่ด้วย