ศูนย์ปรองดองฯ เรียกนักการเมือง-นักวิชาการ หารือรายบุคคล รอบที่ 3
วันนี้ (22 มิ.ย.2558) ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ได้เชิญนักการเมืองและแกนนำกลุ่มการเมืองร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นการปฏิรูปประเทศ ที่สโมสรทหารบกแบบรายบุคคลเป็นครั้งที่ 3 โดย พล.ท.บุญธรรม โอริส รองผู้อำนวยการ ศปป.ยืนยันว่าไม่ใช่การกดดันหรือใช้อำนาจข่มขู่ใคร แต่เป็นการพูดคุยในบรรยากาศเป็นกันเอง ซึ่งเดิมมีการเชิญนายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการ มาร่วมด้วย แต่ติดภารกิจ ขณะที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ซึ่งเข้าร่วมหารือในวันนี้ ระบุว่าส่วนตัวเห็นว่าจะต้องตีโจทย์การปฏิรูปให้ได้ก่อนเพื่อไม่ให้ตกหลุมดำอีก เพราะประเทศไทยผ่านการปฏิรูปมานาน แต่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง
การประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญวันนี้ พิจารณาข้อเสนอแก้ไขประเด็นการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ ทั้งเรื่องการควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและการกำหนดให้มีคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ขึ้นมาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งแทน กกต.ซึ่ง พล.ท.นคร สุขประเสริฐ กรรมาธิการยกร่างฯ ระบุว่ากรรมาธิการพร้อมปรับเนื้อหา โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ คาดการณ์ว่าการพิจารณาประเด็นต่างๆ น่าจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 24 มิถุนายนนี้ และเริ่มลงรายมาตราในวันที่ 25 มิถุนายน ส่วนข้อเสนอของคณะรัฐมนตรี ในภาคที่ 4 ให้ยุบคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองไปรวมกับกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและเสริมสร้างความปรองดอง
โดยให้นำรายละเอียดทั้งหมดไปอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นกรรมาธิการยกร่างฯ จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะคงเนื้อหาเหมือนที่บัญญัติไว้ตามเดิมหรือไม่ โดยให้บัญญัติในกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อปรับแก้ได้ง่ายขึ้น
นายคำนูณยังระบุถึงกรณีที่รัฐบาลเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ให้ยุบสภาปฏิรูปแห่งชาติแล้วตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจำนวน 200 คนแทน ว่าเป็นชื่อเดียวกับที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่จำนวนต่างกัน เพราะสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในร่างรัฐธรรมนูญใหม่มีเพียง 120 คน และกำหนดวาระ 5 ปี ส่วนในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะสิ้นสุดการทำงานเมื่อไหร่ ส่วนตัวคิดว่าสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่นายกรัฐมนตรีจะตั้ง น่าจะแยกออกจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่กำหนดในร่างรัฐธรรมนูญใหม่