หมออนามัย ลุยห้วยขึ้นดอยตรวจครอบครัวกักตัวป้อง COVID-19

สังคม
24 เม.ย. 63
16:31
1,122
Logo Thai PBS
หมออนามัย ลุยห้วยขึ้นดอยตรวจครอบครัวกักตัวป้อง COVID-19
หมออนามัย รพ.สต. ลุยน้ำในห้วยขึ้นดอยตรวจครอบครัวกักตัวป้องกัน COVID-19 เป็นเวลา 14 วัน บนดอยในท้ายไร่ หลังพบมีอาการไข้ และเจ็บคอ

วันนี้ (24 เม.ย.2563) เฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน ได้เผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับหมออนามัย รพ.สต.ที่ต้องดูแลผู้ป่วยรวมถึงผู้กักตัวบนดอย โดยระบุว่า ในช่วงเช้าเข้าเวลาทำงาน ณ รพ.สต.บนดอยที่ห่างไกลได้มีญาติของผู้ที่กักตัวบนดอยมาติดต่อและแจ้งข่าวว่า “หมอครับ เด็กน้อย 1 ใน 6 ของผู้กักตัวเองที่อยู่ในไร่ มีอาการไข้ เจ็บคอ ผมจะต้องทำอย่างไรบ้างครับ”

เมื่อทราบข่าวหมอจึงตัดสินใจไปตรวจ เนื่องจากเป็นห่วงเด็ก เพราะครอบครัวผู้กักตัว ที่มีทั้งแม่ ลูก และหลานๆ รวมจำนวน 7 คนที่อาศัยอยู่ในกระต๊อบที่ไร่ ห่างจากหมู่บ้านออกไปพอสมควร และกังวลว่าจะมีอาการเจ็บป่วยมากหรือเปล่า จึงแจ้งญาติไปว่า “เดี๋ยวหมอจะไปเยี่ยมเองนะ”

ภาพ :  ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน

ภาพ : ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน

ภาพ : ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน


หมอจัดแจงใส่ชุดให้รัดกุม ภายใต้อุณหภูมิ ขณะนั้น 38 องศาเซลเซียลขึ้นไป และใส่หน้ากากอนามัย ตามด้วย Face shield ที่ประยุกต์จากวัสดุในพื้นที่ สวมรองเท้าบู๊ทสำหรับเตรียมข้ามลำห้วย เตรียมยาให้ผู้ป่วย ปรอทวัดไข้ ถุงมือ

กว่าจะพร้อมเดินทางเวลาก็ล่วงเลยไปบ่ายโมงกว่าๆแล้ว เมื่อทุกอย่างพร้อม ก็นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ออกจาก รพ.สต.ไปหาคนไข้ทันที

เส้นทางขึ้นดอยกับชุดป้องกัน COVID-19 

เส้นทางจาก รพ.สต.ไปยังสถานที่กักตัว เริ่มจากถนนค่อนข้างสะดวกสบาย เข้าสู่ถนนลูกรัง ความยากลำบากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางช่วงเป็นเส้นทางที่แคบและเขาสูงชัน บางช่วงมีลำห้วยขวางกั้นเส้นทาง ต้องเดินเท้าสลับกับนั่งซ้อนท้ายจักรยานยนต์หลายรอบ หมอเหงื่อท่วมตัวภายใต้ชุดประยุกต์ที่ปิดมิดชิด หายใจภายใต้หน้ากากอนามัยที่ชุ่มด้วยเหงื่อ มือข้างหนึ่งหิ้วถุงยา อีกข้างก็พยุงเกาะยึดกิ่งไม้ เถาวัลย์ หรือวัตถุตามข้างทาง ถึงกระนั้นก็ยังไถลลื่นไปหลายครั้ง

ภาพ :  ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน

ภาพ : ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน

ภาพ : ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน


พอเข้าใกล้ในระยะสายตาที่มองเห็นชัดเจน สภาพกระต๊อบที่ปลูกอยู่กลางไร่ ไม่ได้มีความคงทนถาวร เสาทำด้วยไม้ขนาดท่อนแขน พอที่จะค้ำยันไม่ให้ล้มลงไปได้สักระยะเวลาหนึ่ง ฝาผนังทำจากกระสอบ และเศษผ้ากะลาเก่าๆ พอบังลมและกั้นให้เป็นสัดส่วน ส่วนหลังคามุงด้วยหญ้าคาวางทับๆเอาไว้ มีไม้ฟืนทับอีกที กันไม่ให้ลมพัดปลิว ผู้กักตัวที่พักในกระต๊อบคงร้อนหน้าดู

ภาพ :  ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน

ภาพ : ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน


เมื่อถึงกระต๊อบ เห็นเด็กๆ อายุไล่เลี่ยกันราวๆ 4-7 ปี จำนวน 4 คน แต่ละคนสวมเสื้อผ้าเก่าๆ เนื้อตัวมอมแมม ยิ้มกว้างๆ มาพร้อมกับผู้หญิงมีอายุ 2 คน คงจะเป็นยายและแม่ของเด็กๆ ทุกคนสวมหน้ากากผ้า ออกมาต้อนรับ ทุกคนเหมือนจะดีใจมาก ที่มีหมออนามัยมาเยี่ยมถึงไร่

ภาพ :  ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน

ภาพ : ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน

ภาพ : ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน

ที่ขอบตาของหมอมีน้ำเอ่อออกมาโดยไม่ทันรู้ตัว รู้สึกสงสารเด็กๆ ที่ต้องทนอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนระอุแบบนี้ จนครบ 14 วัน แล้วรีบทักทายเด็กๆว่า เล่นที่ไร่สนุกไหม ทุกคนตอบเกือบพร้อมกันว่า สนุก

หมอไม่รอให้หายเหนื่อย ต้องรีบตรวจร่างกายคนไข้ทันที พร้อมกับยึดหลักป้องกันการสัมผัส ยืนห่างกันช่วง 2 เมตร ให้ทุกคนล้างมือ โดยเริ่มสอบถามความเป็นอยู่ ประเมินสภาพแวดล้อมทั่วไป ทุกคนบอกว่ามีความสุขกับการกักตัว ไม่ได้ลำบากอะไร สามารถอยู่ได้ครบ 14 วันแน่นอน

เว้นระยะห่าง - กินยา 3 วัน เด็กหายเป็นปกติ

สำหรับเด็กน้อยที่ป่วย เมื่อวัดไข้พบว่ามีอุณหภูมิเพียง 37.0 องศาเซลเซียล มีอาการเจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก ไม่หอบเหนื่อย จึงให้ยาที่จัดเตรียมมา พร้อมทั้งบอกกับแม่ของเด็กไว้ว่า หมอจะให้ยาแก้ไข้ ยาบรรเทาอาการไอ และยาลดน้ำมูก ให้กิน 3 วัน และจะติดตามอาการไข้ทุกวัน ก่อนที่จะเดินทางกลับ รพ.สต.พร้อมกับผู้ช่วยเหลือคนไข้

ภาพ :  ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน

ภาพ : ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน

ภาพ : ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน

กลับถึงที่พักช่วงเย็นๆ ก็หมดแรงพอดี คืนนั้นคงจะหลับเกือบสนิท ถ้าในใจไม่คิดเป็นห่วงเด็ก กลัวว่าจะมีอาการไข้ในเวลากลางคืน

ทั้งนี้ หมอได้ติดตามอาการไข้จากญาติที่ไปส่งอาหารและน้ำดื่ม เป็นประจำทุกวัน พบว่า ตลอดระยะเวลา 3 วัน เด็กไม่มีไข้ อาการไอและมีน้ำมูก ทุเลาลงและหายเป็นปกติในวันที่ 3 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง