"นพ.ประสิทธิ์" ชี้ไทยสู่ช่วงผ่อนปรนมาตรการคุม COVID-19

สังคม
27 เม.ย. 63
12:46
864
Logo Thai PBS
"นพ.ประสิทธิ์" ชี้ไทยสู่ช่วงผ่อนปรนมาตรการคุม COVID-19
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ระบุสถานการณ์ COVID-19 ของไทยสามารถเข้าสู่ช่วงผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ได้ แต่ต้องเว้นระยะห่างอย่างเข้มงวดและสวมหน้ากาก ยืนยันผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ

วันนี้ (27 เม.ย.2563) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบันที่สถานการณ์ในประเทศเริ่มคงที่ พร้อมเสนอแนวทางหากรัฐบาลจะผ่อนผันมาตรการควบคุมสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนร่วมมือป้องกันวิกฤตกลับมาอีกครั้ง

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ประเมินสถานการณ์และทั่วโลกได้ใช้มาตรการ The Hammer and the Dance หรือทุบด้วยค้อนแล้วเปิดให้เต้นรำ ซึ่งตามปกติมาตรการนี้จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นใน 4-6 สัปดาห์ และเห็นว่าในช่วงนี้สถานการณ์ในประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับ และควรเข้าสู่มาตรการผ่อนผัน หรือผ่อนคลายบางมาตรการได้ แต่ยังต้องคงมาตรการป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และการเว้นระยะห่างทางสังคม

 

 

อัตราแพร่เชื้อลดเหลือ 1 ต่อ 0.7 คน

จากผลสำรวจก่อนหน้านี้ ผู้ติดเชื้อ 1 คน สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ 2.2 คน แต่ผลสำรวจล่าสุดเมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่าผู้ติดเชื้อ 1 คน สามารถแพร่กระจายเชื้อลดลงเหลือ 0.7 คน คาดว่าหลังจากนี้ก็จะมีตัวเลขที่ลดลงอีก เพราะที่ผ่านมามาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐบังคับใช้ทำให้ลดจำนวนผู้ป่วยลงได้มาก ทั้งการงดการเดินทาง การกักตัว 14 วัน หรือการปิดสถานที่เสี่ยง

แนะยังไม่ควรเปิดประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลจะมีมาตรการที่ผ่อนคลายในช่วงนี้อาจทำให้ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง แต่ต้องใช้มาตรการบังคับกลับมาอีกครั้งเพื่อลดจำนวนแล้วอาจกลับไปผ่อนคลายอีกครั้ง โดยต้องประเมินตัวเลขทุก 14 วัน เกี่ยวกับมาตรการผ่อนคลายต่าง ๆ แต่เห็นว่ายังไม่ควรเปิดประเทศ พร้อมทั้งเฝ้าระวังผู้สูงอายุ เพราะเป็นบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยได้ง่าย

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ยังย้ำว่าภายใน 1-2 เดือนนี้จะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสถานการณ์ในการประเมินสถานการณ์ผ่อนคลายของรัฐบาล เพราะหลายประเทศมีการผ่อนคลายเร็วเกินไป ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยกลับขึ้นมาอีกจำนวนมาก ส่วนกิจกรรม หรือสถานที่ที่จะผ่อนคลายมากขึ้น ก็จะต้องมีการจัดการ หรือจัดระเบียบให้มีการป้องกันตัวเองของผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการเหมือนกับปัจจุบัน ส่วนการจะปรับเปลี่ยนโหมดของการควบคุมนั้น ขึ้นอยู่กับทุกคนว่าให้ความร่วมมือกับภาครัฐได้มากน้อยเพียงใด

ความหวัง "วัคซีน" รออย่างน้อย 1 ปี

สำหรับวัคซีนที่จะนำมาใช้รักษาเชื่อว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี แม้ว่าขณะนี้ในต่างประเทศได้อยู่ในขั้นทดลองวัคซีนกับสัตว์แล้ว แต่ยังต้องทดลองกับคนถึงภูมิต้านทานต่าง ๆ และยังไม่มีรายงานวัคซีนจะสามารถนำมาใช้ได้เมื่อใด

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีผู้ป่วย COVID-19 ที่รักษาหายแล้วสามารถใช้ชีวิตอยู่กับบุคคลอื่นในสังคมได้ตามปกติ เพราะโรคนี้เกิดขึ้นจากไวรัส เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วก็จะมีภูมิคุ้มกันและไม่แพร่เชื้อกับบุคคลอื่นได้ แต่ทุกคนยังต้องใส่หน้ากากอนามัยและป้องกันตัวเองเสมอ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง