ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

COVID-19 กระทบการเรียนเด็กชาติพันธุ์ จ.เชียงราย

ภูมิภาค
28 เม.ย. 63
10:51
1,215
Logo Thai PBS
COVID-19 กระทบการเรียนเด็กชาติพันธุ์ จ.เชียงราย
การขยายการเปิดเทอม ยังไม่มีใครตอบได้ว่า 1 ก.ค.นี้ จะได้เปิดเทอมใหม่ตามที่กำหนดไว้หรือไม่ แต่การแพร่ระบาดโควิด-19 ก็ทำให้นักเรียนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ได้รับผลกระทบจากการเข้าไม่ถึงไฟฟ้า และอินเตอร์เน็ต

ศุภรดา ล้านกันทา หรือ ครูเก๋ ครูโรงเรียนผาขวางวิทยา ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย ช่วงปิดเทอมครูเก๋ยังไม่กลับบ้านที่จังหวัดลำปาง ยังเข้าเวรที่โรงเรียนแม้เด็กนักเรียนเกือบทั้งหมดจะเดินทางกลับหมูบ้านแล้ว

 

ครูเก๋ พาทีมข่าวไทยพีบีเอสภาคเหนือ ไปเยี่ยมเด็กๆ ที่บ้านอาร์ดี่ ที่อยู่ห่างจากโรงเรียนผาขวางวิทยา ประมาณ 6 กม. เส้นทางเดินทางลำบากต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น

 

 

ผู้นำบ้านอาร์ดี่ประกาศเป็นภาษาท้องถิ่นลาหู่แจ้งผู้ปกครอง และเด็กๆทราบ แม้จะเป็นช่วงปิดหมู่บ้านครูจะเดินทางมาเยี่ยมนักเรียนในหมู่บ้าน

 

ทันทีครูได้เจอกับเด็กๆ เข้ามาทักทาย และบางคนถึงกับโผเข้ากอดคุณครูของพวกเขาในทันที ถ้าเป็นช่วงปกติ คงเหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 สัปดาห์ที่พวกเขาจะต้องกลับไปเรียน และพักอยู่ที่หอพักของโรงเรียนผาขวางวิทยา ที่ห่างออกไป 6 กม.

 

 

ด้วยเป็นชุมชนบนพื้นที่สูง ที่ไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึง ทำให้เด็กๆ กังวลกับการเรียน และการเข้าเรียนต่อที่อื่น หลังจบ ม.3

 

ธีรพงษ์ ตาห่อง นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนผาขวางวิทยา ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย เล่าว่าถ้าเป็นช่วงปกติเขาจะต้องเดินทางไป กทม.แล้วเพื่อเตรียมตัวเรียนต่อ แต่หลัก COVID-19 ระบาด ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มเรียนได้เมื่อไหร่ เพราะยังไม่มีกำหนดที่ชัดเจน ซึ่งอาจทำให้เขาเสียเวลา และเสียโอกาสด้านการศึกษาที่ต้องเร่งเรียนจบเผื่อแบ่งเบาภาระและทำงานช่วยเหลือครอบครัว


สุมาลี อาบู่ นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนผาขวางวิทยา ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย เป็นอีกคนเธอบอกว่า ชอบเรียนที่โรงเรียนมากกว่าที่บ้าน เพราะได้เจอเพื่อนๆด้วย การเรียนที่บ้านแม้จะยังทำการบ้านได้ แต่ถ้าให้ผู้ปกครองสอนก็มีข้อจำกัดคือไม่รู้หนังสือ ทำให้เธอไม่อยากหยุดเรียน

 

ขณะที่ครูเก๋ ครูโรงเรียนผาขวางวิทยา ยอมรับว่า การขยายเวลาเปิดเทอม จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเรียนรู้ของนักเรียนชาติพันธุ์เพราะการเรียนออนไลน์ มีข้อจำกัด ขณะที่ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็ไม่มีเวลาและทักษะในการจัดการเรียนรู้ที่บ้าน

 

การเข้าไม่ถึงไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตของนักเรียนชาติพันธุ์กว่า 300 ชีวิต ที่โรงเรียนผาขวางวิทยา เป็นหนึ่งในรูปธรรมของปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาเดิม ในโจทย์ใหม่ของการจัดการเรียนรู้ ในยุคโควิด-19 ที่ยังไม่มีคำตอบจากภาครัฐ ว่า จะทำอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง