วันนี้ (25 เม.ย.2563) กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมแผนจัดการเรียนการสอนระบบทางไกลและออนไลน์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ ระยะแรก วันที่ 7 เม.ย. - 17 พ.ค. เป็นเตรียมความพร้อม ระยะที่ 2 ทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล วันที่ 18 พ.ค. - 30 มิ.ย.นี้ ระดับปฐมวัยถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ผ่านช่องรายการโทรทัศน์จากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ (DLTV) ส่วนมัธยมศึกษาตอนปลายผ่านช่อง DLTV และระบบออนไลน์โดยครูต้นแบบ
ส่วนระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2563 - 30 เม.ย.2564 หากสถานการณ์ COVID-19 ไม่คลี่คลายจะจัดการเรียนการสอนผ่าน DLTV และระบบออนไลน์ แต่หากสถานการณ์คลี่คลายจะจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยให้เว้นระยะห่างทางสังคมและมีแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
ระยะที่ 4 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 15 พฤษภาคม 2564 จะประสานงานกับหน่วยงานด้านการทดสอบและคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่าครูต้องปรับตัวและร่วมกันผลักดันให้เกิดทักษะต่างๆ อย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ และขอให้ผู้ปกครองดูแลวินัย ของบุตรหลานในการเรียนออนไลน์ และมองว่าการเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยีจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่า นอกจากโรงเรียนต้องสำรวจความพร้อมด้านอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ต แล้ว ต้องสำรวจข้อมูลด้านบริบทครอบครัวด้วย เช่น ผู้ปกครองต้องทำงานนอกบ้านหรือไม่ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปออกแบบการเรียนให้เหมาะสม
สิ่งที่ต้องตระหนักคือการเรียนทางไกลหรือออนไลน์ อาจไม่ตอบโจทย์กับหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กในพื้นที่ทุรกันดาร หรือพื้นที่ชายขอบ ดังนั้นจึงต้องหาวิธีการที่เหมาะสมให้เด็กเข้าถึงการศึกษา เช่น การส่งชุดการเรียนการสอน หรือสื่อการเรียนการสอนไปให้ที่บ้าน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดปฏิทินรับนักเรียน ปี 63 เริ่มสมัคร 3-12 พ.ค.
ไร้ปิดเทอม ต.ค.63 และ เม.ย.64 ชดเชยเลื่อนเปิดเทอม 2 เดือน
เลื่อนเปิดเทอม กระทบเด็กเลื่อนชั้น "เรียนจบ - ไม่มีที่เรียนต่อ"
COVID-19 กระทบการเรียนเด็กชาติพันธุ์ จ.เชียงราย