จากกรณีที่กรุงเทพมหานคร เสนอปลดล็อก 8 ประเภทที่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ โดยมีครอบคลุมเรื่องสถานที่ออกกำลังกาย และกีฬาบางประเภท
วันนี้ (29 เม.ย.2563) นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า "โควิด-19 อย่าลืมจากการแพร่ทางสัมผัสในสนามกีฬา" ทางเข้าสู่ร่างกายของไวรัสอยู่ที่ เยื่อตา จมูก ปาก จากละอองฝอยที่มาจากการพูด จาม ไอ โดยตรง แต่ที่ต้องไม่ลืมคือละอองที่มีไวรัสเหล่านี้ จะติดอยู่ตามพื้นผิว และสามารถฟุ้งกระจายได้และติดตามเนื้อตามตัวแขนขา ผม เสื้อผ้า
ฉะนั้นการออกกำลัง เช่น ตีแบดมินตัน หรือเทนนิส แม้จะอยู่ห่างกันก็ตาม ลูกแบด ลูกเทนนิส จะสัมผัสพื้นสนามที่อาจปนเปื้อนด้วยละอองฝอยจากการหายใจแรงเวลาเหนื่อย เวลาพูด หรือเอามือจับลูก และเมื่ออีกฝ่ายจับหรือตีลูกตอบโต้ก็จะสัมผัสกับละอองเหล่านี้ และเอามือจับเสื้อกางเกงตนเอง
ห้ามจับใบหน้า-อาบน้ำทันที
จึงเป็นเหตุผลที่ต้องไม่ลืมว่า มือห้ามจับส่วนใดส่วนหนึ่งของหน้าในขณะเล่น ควรต้องใส่แว่นป้องกันละอองฝอยเข้าเยื่อบุตา หน้ากากปิดจมูกปาก แต่แน่นอนเมื่อเล่นไปบ้างอาจต้องปลดหน้ากากให้หายใจได้สะดวก
นอกจากนั้นเมื่อเสร็จการออกกำลังถึงแม้จะมีการพูดคุยกันห่างๆ แต่การเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย การเข้าห้องอาบน้ำ จะเป็นที่อีกแห่งหนึ่งที่จะได้เชื้อโดยง่ายและแทบไม่รู้ตัว ในสถานที่นั้นๆ
แม้จะอยู่ห่างกันแต่ต้องระวังการสัมผัสพื้นผิวในสถานที่นั้น ทางปลอดภัยก็คือออกกำลังกายเสร็จตรงกลับบ้าน อย่าลืมเสื้อผ้าต้องถอด และซักทำ ความสะอาดและสระผมอาบน้ำในทันที เรื่องกีฬาอื่นก็ลองคิดกันดู หลักการเดียวกันสัมผัสให้น้อย อยู่ห่างให้มาก มือและหน้าสำคัญ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กทม.จ่อปลดล็อก 8 พื้นที่นำร่อง ตลาด-ร้านอาหาร-ร้านตัดผม
ผู้ว่าฯ กทม. สั่งปิดร้านค้าหลังเที่ยงคืน-ตี 5 ลดเสี่ยง COVID-19