แม้เป็นช่วง COVID-19 กำลังระบาด และถูกจำกัดตัวเองอยู่ในบ้านหรือที่พักแบบนี้ นอกจากคิดถึงอาหารจำพวกปิ้งย่าง-ชาบูแล้ว ร่างกายยังต้องการคอนเสิร์ตอีกด้วย หลังเมื่อปีที่แล้วคอนเสิร์ตศิลปินจากต่างประเทศตบเท้ามาจัดแสดงที่ไทยกันต่อเนื่องทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะศิลปินเกาหลีที่เรียกได้ว่า 1 สัปดาห์ จัดพร้อมกัน 3-4 คอนเสิร์ตก็เคยมีมาแล้ว
กระทั่งการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ทั้งศิลปินไทยและต่างชาติทยอยประกาศยกเลิก ตั้งแต่เดือน ธ.ค.เป็นต้นมา ก็เข้าสู่เดือนที่ 5 แล้วที่ไทยยังไม่มีการจัดคอนเสิร์ตตามมาตรการป้องกัน COVID-19 และตามคำสั่งปิดสถานที่ชั่วคราว
เกาหลีใต้ ถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมบันเทิง เริ่มก้าวเดินครั้งสำคัญ ในการปรับสู่ New Normal การรับชมคอนเสิร์ตแบบเต็มรูปแบบผ่านออนไลน์ โดยบริษัท SM Enterainment จับมือกับ NAVER เพื่อร่วมกันขยายตลาดของแพลตฟอร์มเมมเบอร์ชิป คอมมิวนิตี้ระดับโลก และเริ่มการบริการถ่ายทอดสดคอนเสิร์ต "Beyond LIVE" ส่งตรงการแสดงจาก SuperM WayV NCT127 และ NCT Dream มาให้ได้ชมถึงบ้าน
เน้นรูปแบบใหม่ ใช้เทคโนโลยีและอำนวยความสะดวก
บริการถ่ายทอดสดคอนเสิร์ต "Beyond LIVE" กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค โดยการรับชมคอนเสิร์ตแบบออนไลน์ที่ไม่ใช่การเอาคอนเสิร์ตแบบออฟไลน์ที่มีอยู่แล้วมาถ่ายทอดสด แต่เป็นการนำเสนอคอนเทนต์คอนเสิร์ตดิจิทัลไปพร้อมกับวัฒนธรรมการเว้นระยะห่างทางสังคม พร้อมด้วยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ
ใครจะคิดว่าวันหนึ่งจะได้มาคอมเมนต์ความรู้สึกแบบเรียลไทม์ให้ศิลปินที่กำลังเล่นคอนเสิร์ตอยู่บนเวทีได้อ่าน แล้วเขาก็สามารถตอบเราได้ในทันที หรือจะสามารถเป็นแบล็กกราวน์อยู่บนเวที มองดูศิลปินจากด้านหลังในมุมมองที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน
แอปพลิเคชัน "Naver V LIVE" ที่สามารถรับชมได้ทั้งบนโทรศัพท์สมาร์ตโฟน แล็ปท็อบ โน๊ตบุ๊ก คอมพิวเตอร์ และซิงก์ไปยังหน้าจอโทรทัศน์ได้กลายเป็นอุปกรณ์ใหม่ที่นำทุกคนไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ไม่รู้ตัวท่ามกลาง COVID-19
ภาพ : SM True
ความพิเศษของแพลตฟอร์มออนไลน์อีกอย่าง คือ ราคาที่ไม่สูงมากนักแต่มีฟังชันก์เพิ่มเติมจากแพลตฟอร์ม "Naver V LIVE" ที่มีบริการให้รับชมคอนเสิร์ตย้อนหลังได้ เหมาะสำหรับคนที่ยังค้างอยู่ในคอนเสิร์ต หรือคนที่ไม่พร้อมรับชมคอนเสิร์ตในวันและเวลาดังกล่าว สามารถรับชมคอนเสิร์ตย้อนหลังได้แบบออนไลน์ด้วยเช่นกัน
ซื้อไอดี 1 ไอดี ดูสดได้พร้อมกัน 2 ไอพี ในราคาประมาณ 900 บาท แล้วดูย้อนหลังได้ 5 ไอพี ในขณะที่คอนเสิร์ตปกติที่จัดในไทย ราคาบัตรถูกสุดอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท และแพงสุดไปจนถึงประมาณ 7,500 บาท
รองรับแฟนคลับ 1 รอบมากกว่าคอนเสิร์ตปกติ 7.5 เท่า
SuperM เริ่มต้นด้วยคอนเสิร์ตออนไลน์โดยเฉพาะครั้งแรกของโลก เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา การแสดงกว่า 2 ชั่วโมง พวกเขาได้โชว์การแสดงเพลงใหม่ครั้งแรกอย่าง Tiger Inside พร้อม AR เสือเสมือนจริงโผล่มาร่วมโชว์ตัวด้วย
ที่ขาดไม่ได้คือเพลงเปิดตัว Jopping ที่มีโคลอสเซียมสุดยิ่งใหญ่ และทะเลแท่งไฟด้วยการใช้ AR ปิดท้ายอย่างอลังการ และการสื่อสารโต้ตอบกับแฟนๆ จาก 109 ประเทศ ที่จ่ายค่าบริการเข้ามารับชมกว่า 75,000 คน เพื่อมาร่วมสนุกไปด้วยกัน
นอกจากนี้ ยอดผู้ชมทั่วโลกกว่า 75,000 คน ของคอนเสิร์ตนี้ ยังคิดเป็นจำนวนที่มากกว่าถึง 7.5 เท่า เมื่อเทียบกับ คอนเสิร์ตแบบออฟไลน์ต่อ 1 รอบ ที่ปกติแล้วคอนเสิร์ตของวงไอดอลยอดนิยม จะจัดด้วยขนาดเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 คน ต่อ 1 รอบ
ภาพ : SM True
แม้ไม่อาจบอกได้แน่ชัดเกี่ยวกับต้นทุนของคอนเสิร์ตแต่ละรอบ แต่หากลองมองค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการเวทีและโปรดักชันเพียงครั้งเดียว แต่สามารถทำให้แฟนคลับทั่วโลกเข้ามาชมได้
ไม่ต้องจัดคอนเสิร์ตแบบปกติ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไปกับงานโปรดักชันในทุกประเทศที่ไปเปิดเวที ทั้งยังขายสินค้าที่ระลึก (official goods) หน้าคอนเสิร์ต ผ่านช่องทางออนไลน์ ยิ่งทำให้น่าติดตามการเติบโตของธุรกิจคอนเสิร์ตแบบใหม่นี้มากยิ่งขึ้น
พูดคุยกับศิลปินบนเวที - แท่งไฟเปลี่ยนสีควบคุมออนไลน์
ขณะที่วงต่อมาอย่าง WayV ก็ได้แสดงพลังผ่านถ่ายทอดสดคอนเสิร์ตในครั้งนี้ไปเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยประกอบไปด้วยการแสดงอันเหนือชั้นตามสไตล์ WayV ทั้งสิ้น 14 เพลง ตั้งแต่เพลงฮิตอย่าง ‘Take Off’ Regular Moonwalk และร้องเพลง "Love Talk" เวอร์ชันภาษาอังกฤษมอบให้แฟนๆ อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการแสดงของยูนิตที่โชว์เสน่ห์แต่ละสมาชิก ไปจนถึงเวทีพิเศษ พร้อมกับโปรดักชั่นเวทีที่ใช้เทคโนโลยีสุดล้ำ และมีการเปิดบริการ "Sync Play" เป็นครั้งแรก ซึ่งก็คือ บริการโต้ตอบที่เชื่อมต่อแท่งไฟของแฟนคลับเข้ากับการแสดงสดแบบเรียลไทม์ ทำให้แท่งไฟสามารถเปลี่ยนสี และเอฟเฟกต์ได้ตามการแสดงเพลงต่างๆ เหมือนกำลังนั่งอยู่ในฮอล์จัดคอนเสิร์ตจริงผ่านแอปพลิเคชัน wyth
ความพิเศษอีกอย่างของการชมคอนเสิร์ตออนไลน์ในครั้งนี้ ที่ไม่เอ่ยถึงคงไม่ได้ คือ การคัดเลือกแฟนคลับผู้โชคดีจำนวน 200 คน ที่ได้รับสิทธิวิดีโอคอลกับศิลปิน โดยผู้โชคดีจะได้ปรากฏหน้าจอแบบสดๆ บนเวทีเดียวกันกับศิลปิน
พร้อมนัดแนะกันทำโปรเจ็กพิเศษเพื่อให้กำลังใจ WayV บนเวทีด้วยและจะมีผู้โชคดีที่ส่งคำถามโดนใจ 3 คำถาม จะได้พูดคุยแบบสดๆ ผ่านวิดีโอคอลกับ WayV ทั้งวง
ภาพ : SM True
ส่วน WayZenNi (ชื่อแฟนคลับเวย์วี่) คนอื่นๆ ก็ได้ส่งต่อความรักให้ศิลปินแบบเรียลไทม์ผ่านการคอมเมนต์ในช่องแชตของแอปพลิเคชัน โดยเหล่าแฟนคลับก็พร้อมใจกันตั้งชื่อแอคเคาต์เป็นธงประเทศตัวเอง ต่อด้วย WayZenNi ตามด้วยหัวใจสีเขียว และข้อความที่ต้องการบอกเด็กๆ เพื่อให้ได้รับรู้ว่ามีแฟนคลับจากทั่วโลกมาให้กำลังใจทุกคนอยู่ตรงนี้
ส่วนกระแสตอบรับก็ร้อนแรงจนแฮชแท็ก "#WayV_beyondLIVE" ติดเทรนด์อันดับ 1 แบบเรียลไทม์ในประเทศเกาหลี และต่างประเทศ ทั้งแบบ Worldwide และในหลายประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา, บราซิล, อินโดนีเซีย และประเทศไทย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่ชาวโซเชียลให้ความสนใจกับคอนเสิร์ตคิดค่าบริการทางออนไลน์โดยเฉพาะที่ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไอดอลวงจีน
เปิดประสบการณ์ WayZenNi กับคอนเสิร์ตออนไลน์เววี่ครั้งแรก
หนึ่งใน WayZenNi เล่าว่า รู้สึกชอบที่มีคอนเสิร์ตออนไลน์ในครั้งนี้ แต่ถามว่าสู้คอนเสิร์ตจริงได้ไหม ก็ยังต้องบอกว่าไม่ได้ เพราะอยากเจอเด็กๆ ตัวจริงมากกว่า แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้เจอเด็กๆ เลย ส่วนปัญหาที่พบอาจจะเป็นเรื่องของสตรีมมิ่งที่ดีเลย์ไปบ้าง ช่วงที่เด็กๆ คุยกับ WayZenNi ทำให้ศิลปินเองก็ดูแอบกังวลไปด้วย แต่ภาพรวมถือว่าทำได้ดี
การซิงก์แท่งไฟเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบช่วงดู SuperM ไม่มีให้ซิงก์ ส่วนของเววี่มีให้ซิงก์แต่ทำได้ดีกับคนที่ดูผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์สมาร์ตโฟนและต้องเป็นระบบแอนดรอยด์เท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องยอมรับเลยคือ สตรีมมิ่งภาพคมชัดมาก ได้เห็นหน้าเด็กๆ ชัดแจ๋ว
ส่วน WayZenNi ไทยอีกคน เล่าว่า ดูคอนเสิร์ตออนไลน์ครั้งนี้ต่างกันแค่ดูผ่านกล้องเท่านั้น อย่างอื่นเหมือนการไปดูคอนเสิร์ตจริงทุกอย่าง เพราะบางครั้งในคอนเสิร์ตคนที่นั่งโซนไกลๆ ก็ต้องดูผ่านหน้าจอเหมือนกัน และอีกส่วนที่ขาดไปคือ ไม่ได้เห็นโมเม้นอื่นๆ ได้เต็มตาอย่างที่อยากมอง แต่ต้องดูผ่านมุมมองของกล้องที่ถ่ายเท่านั้น
ชอบตรงที่มีการให้ซิงก์แท่งไฟเหมือนคอนเสิร์ตจริงที่จะควบคุมให้เปลี่ยนสีไปตามจังหวะแต่ละเพลง ซึ่งส่วนตัวไม่พบปัญหาดีเลย์ แต่มีสัญญาณหลุดต้องต่อใหม่บ้างบางครั้ง ข้อดีอีกอย่างคือ ดูได้ที่บ้านแบบนั่งสบายๆ ไม่ต้องแออัด ซึ่งส่วนตัวชอบมาก
สตรีมละเมิดลิขสิทธิ์ อุปสรรคคอนเสิร์ตออนไลน์
แม้การจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ครั้งแรกท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จะเป็นไปด้วยดี แต่ยังพบอุปสรรคของการถ่ายทอดสดบนออนไลน์ อย่างการสตรีมเถื่อน หรือการถ่ายทอดสดแบบละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อบนสื่อสังคมออนไลน์
ก่อนการแสดงคอนเสิร์ตทางบริษัท SM Enterainment ก็ได้ออกมาเตือนว่า "สำหรับใครที่ทำการเผยแพร่การถ่ายทอดสดคอนเสิร์ต 'Beyond LIVE' แบบผิดกฎหมาย อาจต้องชดใช้เยียวยาทางกฎหมายภายใต้กฎหมายเรื่องลิขสิทธิ์" แต่ก็ยังมีการสตรีมคอนเสิร์ตแบบเรียลไทม์แบบละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ ซึ่งกรณีนี้อาจเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการต้องเริ่มทบทวนและหาแนวทางควบคุมต่อไป
อย่างไรก็ตาม นี่คือจุดเริ่มต้นของจุดเปลี่ยน หลังสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ในอนาคตอาจกลายเป็นเรื่องใหม่ที่ปกติและเข้าถึงทุกคนได้มากกว่าที่ใครหลายคนเคยคาดคิด