วันนี้ (8 พ.ค.2563) นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.ได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤต COVID-19 ได้ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจใหม่บนพื้นฐาน COVID-19 จะไม่กลับมาระบาดในไทยใหม่ โดยคาดว่าจีดีพีของไทยในปีนี้ จะติดลบ 3 ถึงติดลบ 5% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 1.5-2.0% ส่วนการส่งออกในปี 2563 อาจจะติดลบ 5% ถึงลบ 10% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ในกรอบ 0% ถึงลบ 1.5%
ขณะนี้ กกร.มองว่าเศรษฐกิจไทยได้มาถึงจุดต่ำสุดแล้วและภายหลังที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจค่อยๆ ดีขึ้น แต่จะไม่ฟื้นตัวรวดเร็วแบบตัว V แต่จะเป็นแบบตัว U ที่มีฐานกว้าง คือจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เพราะแม้ว่าไทยจะมีการติดโรค COVID-19 ลดลงมาก แต่ในต่างประเทศยังคงระบาดรุนแรงทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับมาเป็นปกติรวมทั้งในปีนี้เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอยจะส่งผลต่อการส่งออกของไทย
นอกจากนี้ กกร.ยังติดตามข้อเสนอของเอกชนรวม 34 มาตรการ ที่ได้เสนอต่อภาครัฐแล้วทั้งด้านภาษี การเงิน แรงงาน สาธารณูปโภค เพื่อเยี่ยวยาและฟื้นฟูภาคธุรกิจจากภัย COVID-19 ขณะนี้ภาครัฐเห็นชอบตามข้อเสนอ กกร. แล้ว 11 มาตรการ และอยู่ระหว่างดำเนินการ 11 มาตรการ
สำหรับมาตรการที่เหลืออีก 12 มาตรการ เช่น มาตรการปรับอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายทุกประเภทเป็นอัตราเดียวคือ 1% เฉพาะปี 2563 มาตรการให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่เอสเอ็มอี 3 ปีทุกธุรกิจ ลดค่าจดจำนองและค่าโอนที่ดินเหลือ 0.01% เฉพาะปี 2563 คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีที่ใช้มิเตอร์ขนาด 50 แอมป์ เป็นต้น
ทั้งนี้ กกร.จะทำหนังสือถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เร่งรัดดำเนินการต่อไป นอกจากนี้เพื่อช่วยเกษตรของไทย กกร.จะสนับสนุนให้ภาคเอกชนและผู้บริโภคช่วยซื้อสินค้าเกษตร ได้แก่ ผัก ผลไม้