วันนี้ (8 พ.ค.2563) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H1N1) ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H3N2) ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ตระกูล Victoria และไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ตระกูล Yamagata ซึ่งนำเข้าวัคซีนมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จำนวน 5,000 โดส เพราะต้องดูแลสุขภาพประชาชนและมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ขณะปฏิบัติงานได้ทุกสายพันธุ์หาบุคลากรเจ็บป่วยจะเกิดผลกระทบกับการให้บริการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID-19
สำหรับปีนี้เป็นปีแรกที่กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์เร่งให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ประจำปี 2563 ให้เร็วขึ้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คือ ระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-31 ส.ค.2563 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ 410,000 โดส และประชาชนกลุ่มเสี่ยงอีก 4.11 ล้านโดส ซึ่งกลุ่มนี้หากป่วยแล้วอาจจะมีอาการรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตได้
สำหรับ 8 กลุ่มเสี่ยง แบ่งออกเป็น
1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
2. หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
3. เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี
4. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย โรคมะเร็ง
5. ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
6. ผู้พิการทางสมอง
7. ผู้ป่วย HIV
8. ผู้ป่วยโรคอ้วน นส่วนนี้ สปสช.จะเป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบ
นายอนุทิน กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีน COVID-19 อาจต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะซึ่งความคืบหน้า การศึกษาวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในไทย เมื่อวานนี้ (7 พ.ค.) ได้ประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง โดยได้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งให้กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อนำไปวิจัย พัฒนา ร่วมกับสถาบันทั้งในไทยและต่างประเทศ เชื่อมั่นว่าบุคลากรทางการแพทย์ของไทย นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ จะช่วยกันคิดค้นวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้
ทั้งนี้ แต่ระหว่างที่รอวัคซีนป้องกันโรคนั้น ทุกคนต้องช่วยกันป้องกันการแพร่เชื้อ ซึ่งจากนี้ไปประชาชนต้องปรับการใช้ชีวิต สู่ New Normal หรือ ชีวิตวิถีใหม่ ให้ได้ร้อยละ 70 ถึงร้อยละ 80 ในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของ COVID-19
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศบค.ยังไม่ถอนจีน-เกาหลีใต้ ออกจากประเทศเสี่ยง COVID-19
ญี่ปุ่นไฟเขียวใช้ "เรมเดซิเวียร์" รักษา COVID-19