วันนี้ (15 พ.ค.2563) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 7) ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค.2563 แล้วนั้น
ด้วยเป็นการสมควรผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เพิ่มเติมจากที่เคยผ่อนคลายไว้แล้วเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนด้านเศรษฐกิจสังคม และความมั่นคง ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้รายงานผลการประเมินสถานการณ์ และการรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายความมั่นคงฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายผู้ประกอบการ และฝ่ายผู้บริโภค
ประกอบกับฝ่ายสาธารณสุขได้เสนอว่า จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันและสถิติผู้เสียชีวิตในประเทศนับแต่ต้นเดือน พ.ค.อันเป็นระยะเวลาที่ประกาศใช้ข้อกำหนด (ฉบับที่ 4) (ฉบับที่ 5) และ (ฉบับที่ 6) เป็นต้นมา ลดลงหรืออยู่ในระดับที่ควบคุมได้อย่างต่อเนื่อง แต่เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสภาพดินฟ้าอากาศ จำนวนของผู้เดินทางข้ามจังหวัดและผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ตลอดจนประชาชนบางกลุ่มที่ยังประมาทและละเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค
ในขณะที่การแพร่ระบาดก็ยังปรากฏอยู่มากในต่างประเทศ จึงควรผ่อนคลายตามโอกาสเสี่ยงของบุคคล สถานที่ และประเภทของกิจกรรม ภายใต้
เงื่อนไขว่ายังคงให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคและคำแนะนำของทางราชการต่อไปโดยเคร่งครัด และหากปรากฏว่าจำนวนผู้ติดเชื้อกลับเพิ่มหรือโอกาสเสี่ยงมีมากขึ้น ก็อาจระงับหรือเปลี่ยนแปลงการผ่อนคลายบางส่วนหรือทั้งหมดได้
อำศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดเป็นการทั่วไปและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้