วันนี้ (17 พ.ค.2563) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงชี้แจงกรณีที่มีการกล่าวพาดพิง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เรื่องการสลายการชุมนุมปี 2553 ว่า เป็นการสร้างวาทะกรรมเพื่อทำลายนายอภิสิทธิ์ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทั้งที่ผ่านการพิสูจน์จากกระบวนการยุติธรรมจนสิ้นกระแสความ ว่านายอภิสิทธิ์ไม่ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา
โดยหลักฐานจากรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ยืนยันชัดเจนว่า การชุมนุมปี 2553 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชัดเจน และในบริเวณการชุมนุมก็มีกลุ่มชายชุดดำแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม มีการใช้อาวุธสงคราม รายงานของ คอป. มีรายละเอียดเป็นจำนวนมากที่ยืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ
นายราเมศกล่าวว่า การพิสูจน์ความจริงผ่านกระบวนการยุติธรรม ที่มีการยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ ต่อศาลอาญา ในข้อหาเจตนาฆ่าผู้ชุมนุม สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยต่างๆ สลายการชุมชุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นข้อหาที่หนักหนาเอาการ แต่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง เพราะไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ โดยศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา มีคำพิพากษายกฟ้องเช่นกัน
อำนาจการพิจารณาคดีจึงตกไปอยู่กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจโดยตรง โดยผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. รับฟังเป็นที่ยุติว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุผล
“อยู่ในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จึงมีเหตุจำเป็นที่ ศอฉ. ต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งได้ไปตามสถานการณ์ หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ อันเป็นไปตามหลักสากล ตามนัยคำพิพากษาศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขดำที่ 1433/2553”
ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้ในคดีเลขที่ 1699/2560 “ว่าการกระทำของ นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง” ก็เป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องต้องกัน เรื่องดังกล่าวนี้จึงควรจะยุติ เพราะได้ผ่านการค้นหาความจริงด้วยกระบวนการยุติธรรม ไม่ควรที่จะมาใช้วาทะกรรมในการปลุกปั่นให้ประชาชนเข้าใจผิด
นายราเมศกล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นผู้นำที่พยายามเจรจาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศตลอดมา แต่การเจรจาก็ล้มไปเพราะแกนนำ นปช. รับคำสั่งมาให้ยกเลิกการเจรจา และทั้งนายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ ไม่เคยเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมให้กับตนเอง พร้อมต่อสู้คดีจากข้อกล่าวหา จนผ่านกระบวนการตรวจสอบการพิสูจน์ด้วยกระบวนการยุติธรรมว่าไม่ได้ทำผิดตามที่กล่าวหา
ขณะที่ศาลฎีกาตัดสินจำคุกนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ที่กล่าวหานายอภิสิทธิ์ในคดีหมิ่นประมาท ใส่ร้ายนายอภิสิทธิ์ว่า เป็นฆาตกรสั่งฆ่าประชาชนระหว่างการชุมนุม นปช. ดังนั้น บุคคลใดจะนำความเท็จมาใส่ร้ายนายอภิสิทธิ์ ก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจถูกดำเนินคดีต่อไป