วันนี้ (26 พ.ค. 2563) นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีพบผู้เสียชีวิตขณะกักตัวเฝ้าระวังโรค COVID- 19 ที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งผู้เสียชีวิตประกอบอาชีพกระเป๋ารถเมล์ในกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางกลับมาบ้านที่ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา และกักตัวที่บ้านพักตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด เป็นเวลา 14 วัน ช่วงแรกมีอาการ สั่น เจ็บหน้าอก เมื่อกักตัวมาเข้าสู่วันที่ 5 (23 พ.ค.) เกิดหมดสติ ไม่หายใจ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
กรมควบคุมโรค เข้าตรวจสอบเบื้องต้น ยังไม่พบสาเหตุการเสียชีวิตที่ชัดเจนว่าเกิดจากพิษสุราเรื้อรังหรือไม่ ส่วนในผู้ที่มีภาวะติดสุรา แนะนำว่าควรพบแพทย์เพื่อเข้าสู่ระบบบำบัดรักษา เนื่องจากการดื่มสุราเป็นสาเหตุให้เกิดโรคในร่างกาย เกือบ 200 โรค จึงไม่ทราบว่าเกิดจากแอลกอฮอล์อย่างเดียวหรือว่าโรคอื่นที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิต
นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรค แนะนำผู้มีปัญหาการดื่มสุราหรือผู้ติดสุราว่า อาการของภาวะถอนพิษสุราอาจเกิดได้หลายรูปแบบขึ้นกับแต่ละบุคคล และมักเริ่มเกิดหลังจากหยุดดื่มแอลกอฮอล์ไปแล้ว 6-48 ชั่วโมงโดย ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะถอนพิษสุรา ได้แก่ผู้ดื่มแอลกอฮอล์ ปริมาณมากเป็นประจำ มีประวัติเป็นภาวะถอนพิษสุรามาก่อน และมีปัญหาสุขภาพบางอย่าง
อาการระยะเริ่มต้นของภาวะนี้ที่พบได้บ่อย ประกอบด้วย ปวดหัว มือสั่น เหงื่อออก กระวนกระวาย วิตกกังวล ซึมเศร้า มีปัญหาด้านการนอนหลับ คลื่นไส้และอาเจียน ไวต่อแสงและเสียงมากขึ้น สับสน ไม่มีสมาธิ หรือไม่สามารถคิดเรื่องราวต่างๆ ได้ชัดเจน เบื่ออาหาร มือเย็น และชีพจรเต้นเร็ว ซึ่งในรายที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ ผู้มีปัญหาการดื่มสุราหรือผู้ติดสุรา ควรค่อยๆ ลดปริมาณการดื่มสุราลง เพื่อป้องกันอันตรายจากการหยุดดื่มกะทันหัน และควรมีการประเมินความเสี่ยงภาวะถอนพิษสุรา สังเกตอาการของตนเอง รับประทานอาหารให้อิ่ม พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดการอยากดื่มสุรา
นอกจากนี้ขอให้ผู้มีปัญหาการดื่มสุราหรือผู้ติดสุรา หมั่นสังเกตอาการของตนเองว่ามีความเสี่ยงจะเกิดภาวะถอนพิษสุราหรือไม่ ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ และควรโทรปรึกษาแพทย์ที่รักษาเป็นประจำ หรือสอบ ถามที่สถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน หากต้องการลด ละ เลิก สามารถปรึกษาได้ที่ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา 1413 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422