ถึงคิวรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่ง พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับเข้าสู่สภาฯ เพื่อพิจารณา หรือ “แปลง” เป็น พ.ร.บ. ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
แปลเป็นภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่าย คือ พ.ร.ก. เป็นเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลใช้ออกฎหมายไปพลางก่อนในสถานการณ์เร่งด่วน
เมื่อถึงเวลาจึงค่อยนำเข้าไปขอความเห็นชอบสภาฯ ให้ถูกต้อง
ที่นี้ คือ พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท รวม 3 ฉบับ ที่รัฐบาลใช้กดไฟเขียวเงิน 3 ก้อน
ก้อนที่ 1 ใช้แก้ไข เยียวยา ฟื้นฟู ครอบคลุมงานด้านสาธารณสุข เยียวยาประชาชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ก้อนที่ 2 ปล่อย Soft Loan หรือ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สถาบันการเงินไว้ปล่อยกู้ช่วย SME
ก้อนที่ 3 ปล่อยเงินให้ ธปท. และ ก.คลัง ช่วยกันตั้งกองทุนอุ้มตลาดตราสารหนี้
ซึ่ง "เงิน" ที่ว่าก็ทยอยกู้ทยอยใช้ไปแล้ว เหลือเพียงขอ "ตราปั้ม" จากสภาฯ เท่านั้น
ประวัติ "การเมือง" ใช่ว่า พ.ร.ก.ทุกฉบับจะได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ ทว่าขึ้นอยู่กับ "เงื่อนไข" และ "บริบท" การเมืองยุคนั้นด้วย ซึ่งมีอย่างน้อย 3 ฉบับ ที่ถูก "ตีตก" โดยสภาฯ ไม่นับรวมกรณีที่ผ่านสภาฯ ไปแล้วแต่ถูกทำให้เป็นโมฆะ
ที่บางคนยังจำกันได้ คือ ปี 2529 สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (รัฐบาล เปรม2) โดย นายสมัคร สุนทรเวช รมว.คมนาคม เสนอ พ.ร.ก.การขนส่งทางบก เพิ่มอัตราเก็บภาษีเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล โดยให้เหตุผลว่าต้องออกเป็น พ.ร.ก. เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
การอภิปรายรอบนั้นใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมง แต่ลงมติถึง 3 ครั้ง และรัฐบาลแพ้ทั้ง 3 ครั้ง
โดยครั้งที่ 3 นายสมัคร ขอให้ที่ประชุมสภาฯ ขานชื่อนับคะแนน เพราะการลงคะแนนรอบที่ 2 คะแนนห่างกันเพียง 1 คะแนน
หลังรัฐบาลโหวตแพ้ พล.อ.เปรม สั่งยุบสภาฯ
สิ่งที่น่าสังเกตคือ "ถ้อยคำ" ในประกาศ ที่อ้างว่าสาเหตุของการยุบสภาฯ เพราะสภาฯ ไม่ได้เห็นแก่เนื้อหาของ พ.ร.ก. แต่รัฐบาลโหวตแพ้เพราะ "ความแตกแยก" ของพรรคการเมืองบางพรรค
ส่วนอีก 2 ฉบับ เกิดขึ้นในยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม ปี 2487 ฉบับแรก เสนอ พ.ร.ก.ก่อสร้างเพชรบูรณ์ เป็นเมืองหลวงใหม่
ซึ่งถูกสภาฯ ตีตก
และอีกหนึ่งฉบับ คือ พ.ร.ก.จัดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ ใช้ พ.ร.ก.ปกปิดความตั้งใจที่จะก่อสร้าง "เขตปลอดทหาร" ที่ จ.สระบุรี
ผลจากการถูกตีตก พ.ร.ก. 2 ฉบับ ในปี 2487 จอมพล ป.พิบูลสงคราม รับผิดชอบโดยการลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากไม่ได้รับการตอบสนองจากสภาฯ
กรณีสภาฯ ตีตก พ.ร.ก. เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เพราะปกติ พ.ร.ก. มักออกโดยรัฐบาล ด้วยเหตุผลของความ "ฉุกเฉิน" แล้วขอความเห็นชอบสภาฯ แปลงเป็น พ.ร.บ.ในภายหลัง
สาเหตุที่ผ่านฉลุย! เพราะรัฐบาล คือ ผู้กุมเสียงข้างมากในสภาฯ จึงไม่มีปัญหา
ส่วนที่มีปัญหา เช่น สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม เพราะยุครัฐธรรมนูญ ปี 2520 นักการเมืองมีหลายพรรคหลายกลุ่ม ไม่ได้มีพรรคใหญ่เพียงไม่กี่พรรคดังปัจจุบัน และรัฐธรรมนูญยังให้เอกสิทธิกับ ส.ส. แปลว่า ส.ส.มีสิทธิมีเสียงของตนเอง จะฝ่ามติพรรคก็ไม่เป็นผลและไม่ถูกขับออกจากพรรค
ข้อดี ส.ส.มีความเป็นตัวของตัวเองสูง จะโหวตสวนมติพรรคก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
ข้อเสีย คือคำครหา "สภาขายตัว" จะลงมติโหวตแต่ละครั้ง ฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล ซื้อเสียงกันอุตลุด ดังคำบอกเล่าของนักการเมืองและนักข่าวยุคหลังรัฐธรรมนูญ ปี 2520 ที่พบเห็นการจ่ายเงินซื้อตัวซื้อโหวตในห้องน้ำของสภาฯ ก่อนการโหวต
เทียบกับยุคนี้การทำแท้ง พ.ร.ก.เงินกู้ จึงเป็นไปได้ยาก
1.รัฐบาลมีเสียง ส.ส. มากกว่าฝ่ายค้านเกือบ 60 เสียง หลังมี ส.ส.บางส่วนจาก "พรรคก้าวไกล" และ "พรรคเศรษฐกิจใหม่" ซึ่งเดิมอยู่กับขั้วฝ่ายค้าน ย้ายขั้วมาอยู่ฝั่งรัฐบาล
2. "งูเห่า" ในพรรคฝ่ายค้าน ได้แก่ "พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเพื่อไทย" ที่ร่วมโหวตหนุนรัฐบาล ตั้งแต่การผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 ที่เรียกว่า "เปิดหน้า" แสดงตัวอย่างชัดเจน
ถก พ.ร.ก.เงินกู้ รอบนี้ รัฐบาลจึงสบายใจหายห่วง ไม่ต้องกังวลกับเสียง ส.ส.ในสภาฯ จะตกม้าตายก็ต่อเมื่อมี "หอกข้างแคร่" ของพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่ได้ Take Action หรือร่วมใช้เงินกับรัฐบาลในช่วงระบาดโควิด-19
เพราะรัฐบาลอาศัย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวบอำนาจไว้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จนพรรคร่วมรัฐบาลยี่ห้อ "ประชาธิปัตย์ –ภูมิใจไทย" ไม่ได้ออกฤทธิ์ แสดงบทบาทเป็นนักการเมืองเสื้อกาวน์
บทเรียนจาก พ.ร.ก.ที่ถูกตีตกครั้งนั้น สอนให้รู้ว่าการถก พ.ร.ก.เงินกู้ ครั้งนี้ แม้จะมีเสียงในสภาฯ ท้วมท้น-ทิ้งห่าง ฝ่ายค้าน
แต่ที่น่ากลัวคือ "ความแตกแยก" จากพรรคการเมืองบางพรรค