วันนี้ (28 พ.ค.2563) เวลา 08.45 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ภายในสำนักงาน ก.พ. มีตัวแทนกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) นำโดย น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธาน สนท., นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และกลุ่มผู้ใช้แรงงานจากกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก, กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง, สถาบันแรงงานเศรษฐกิจที่เป็นธรรม, สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และเครื่องหนังแห่งประเทศไทย, สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง 13 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้รัฐบาลต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และแจกเงินเยียวยาให้ประชาชนอย่างถ้วนหน้า
จากนั้น เวลา 09.30 น. กลุ่มนักศึกษาและผู้ใช้แรงงาน เดินไปที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ถ.พิษณุโลก เพื่ออ่านจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล
น.ส.จุฑาทิพย์ อ่านจดหมายเปิดผนึกระบุว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2563 คณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ วันที่ 26 มี.ค.2563 โดยรัฐบาลได้อ้างว่า การขยายเวลาดังกล่าว เป็นไปเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) มิได้มีจุดประสงค์ทางการเมืองแอบแฝงนั้น
ตลอดระยะเวลา 2 เดือน ที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กลับมีเหตุการณ์จับกุมหรือข่มขู่ดำเนินคดีข้อหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับนิสิตนักศึกษา นักเคลื่อนไหวทางสังคม และแม้กระทั่งประชาชนทั่วไป ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่มักจะกล่าวหาว่า นิสิตนักศึกษาและประชาชนเหล่านั้น กระทำการอันขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือสร้างความวุ่นวายในสังคม มิได้กล่าวถึงการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเลย
ที่ผ่านมารัฐบาลมิได้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมโรค แต่ใช้เพื่อควบคุมประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล การขยายระยะเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงเป็นการฉวยโอกาสปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยใช้สถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นข้ออ้างเพียงเท่านั้น
การขยายระยะเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังสร้างความยากลำบากให้แก่ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานที่ต้องขาดแคลนรายได้ เนื่องจากถูกเลิกจ้าง หรือไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ
อีกทั้งมาตรการจำกัดการออกจากเคหะสถานในยามวิกาล (เคอร์ฟิวส์) ยังส่งผลให้ประชาชน และพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ทำงานช่วงกลางคืน ต้องประสบความยากลำบากในการเดินทาง หรือกระทั่งไม่สามารถทำงานได้เลย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่ให้ความสำคัญกับการเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชน จะเห็นได้ว่า มาตรการเยียวยาของรัฐที่ดำเนินไปแล้วนั้น เต็มไปด้วยความล่าช้า และความไร้ประสิทธิภาพ เป็นผลให้ประชาชนจำนวน มากต้องตกหล่นไปจากมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ และแรงงานในภาคเกษตรกรรม การขยายอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพียงเพื่อให้รัฐบาลได้รักษาอำนาจของพวกตนไว้ ถือเป็นการช้ำเติมประชาชน และยังเป็นการดูถูกประชาชนอย่างถึงที่สุด
ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบาดได้ทุเลาลงไปมาก ดังจะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย น้อยกว่าประเทศอื่นมาก แต่จำนวนผู้เสียชีวิต จากความอดอยาก และสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ กลับเพิ่มสูงขึ้น
ตัวแทนนักเรียน นิสิตนักศึกษา และผู้ใช้แรงงาน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดใช้เชื้อโรคเป็นข้ออ้างในการเหยียบย่ำประชาชน และขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ ดังนี้
1.ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และนำกฎหมายที่สามารถใช้ควบคุมโรค แต่ไม่สามารถใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น พระราชบัญญัติโรคระบาดร้ายแรง พ.ศ.2558 มาใช้แทน
2.เยียวยาประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้า โดยผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน เช่น แรงงานนอกระบบประกันสังคม แรงงานที่จ้างตัวเอง แรงงานในภาคเกษตรกรรม ต้องได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนทุกคน เข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 09.40 น. หลังจากอ่านจดหมายเปิดผนึกเสร็จแล้ว ทั้งหมดได้เดินกลับเข้ามาภายในสำนักงาน ก.พ. เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่าน นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รับเรื่องไว้ เพื่อดำเนินการต่อไป