วันนี้ (29 พ.ค.2563) พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายถึงการจัดสรรงบฯ จาก พ.ร.ก.เงินกู้ จำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท สำหรับด้านสาธารณสุข โดยระบุว่า การจัดสรรเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 4.5% ของ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อย และเมื่อเทียบกับวงเงินทั้งหมด (พ.ร.ก. 3 ฉบับ) คิดเป็น 2% เท่านั้น นอกจากนี้ยังขาดรายละเอียดที่จะใช้ในการพิจารณาด้วย
ทั้งนี้ตนได้ลงพื้นรับฟังความเดือดร้อนของคนในจังหวัดชายแดนใต้ เช่น สำรวจสถานที่กักตัว กว่า 20 แห่งในจังหวัดชายแดนใต้ คุยกับคณะกรรมการจังหวัดปัตตานีนานกว่า 2 สัปดาห์ และคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันนี้ถือเป็นการสะท้อนเสียงคนทำงานด่านหน้าและคนที่ทำงานในโรงพยาบาลจังหวัดชายแดนใต้
ปัญหาที่พบ เช่น กลุ่มเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพตำบล และ รป.สต. ซึ่งมีบทบาทไม่น้อยกว่าโรงพยาบาลในจังหวัด ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่แบ่งเวรและเวียนกันไปตามจุดตรวจ จุดคัดกรอง สถานที่กักตัว บางแห่งเคาะประตูบ้านร่วมกับ อสม. ที่สำคัญในภาคใต้ต้องตรวจมัสยิดด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยใจรัก แต่จะดีกว่านี้หากมีอุปกรณ์ป้องกันสนับสนุน เพราะหลายพื้นที่ยังขาดหน้ากากอนามัยที่ใช้ทางการแพทย์และชุดป้องกันพีพีอี
ดิฉันลงไปดู บางที่หน้ากากและชุดพีพีอียังขาดแคลน บางแห่งเพิ่งได้ไป ต้องใช้อย่างประหยัดสลับเสื้อกันฝน
ที่สำคัญคือเรื่องประกันชีวิต ซึ่ง รป.สต. จะมีเจ้าหน้าที่ได้ทำประกันแค่ 2 คน คือ ผอ. และเจ้าหน้าที่ด้านระบาดวิทยา ทั้งที่ รป.สต. แห่งหนึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ 7-10 คน ยิ่งกว่านั้นบางแห่งไม่ได้รับค่าตอบแทนเข้าเดือนที่ 3 แล้ว แม้บางแห่งจะแก้ไขโดยการนำเงินบำรุงมาจ่ายก่อน แต่ไม่ใช่ทุกที่ที่จะมีเงินพอจ่าย
ขณะที่ อสม. ที่ได้รับคำชมจากคนทั่วประเทศ วันนี้ยังดีที่เคาะประตูบ้าน (กลุ่มเฝ้าระวัง) ได้ 50 บาท/คน/วัน บางแห่ง อสม.ได้เบี้ยเลี้ยงวันละ 150 บาท บางแห่งได้ 240 บาท ซึ่งได้งบฯ จาก อบต. หรือจังหวัดแล้วขึ้นอยู่กับความพร้อมของพื้นที่ จึงทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่าได้เงินไม่เหมือนกัน ขณะที่บางแห่งได้ข้าวกล่องและน้ำกลับบ้านเท่านั้น
ทั้งนี้ขอท้วงติงเรื่องการจัดสรรงบฯ ให้กับแต่ละโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ หรือ ไซส์เอส 49 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีการกำหนดงบฯ ให้ได้เท่ากันหมด ทั้งที่บางแห่งไม่มีความเสี่ยงด้านโควิด-19 หรือไม่รุนแรงเท่า กทม. และ จ.นนทบุรี แต่กลับได้งบฯ เท่ากันหมด
ท้ายสุดคือการกำหนดแบบในการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใหม่ ซึ่งจะต้องการโซนนิ่งพื้นที่เพื่อจัดทำห้องความดันลบและแยกอาคารใหม่ แต่ปัจจุบันโรงพบาลในต่างจังหวัดต้องใช้แบบก่อสร้างเหมือนกันหมด ซึ่งออกแบบมาจากกองแผนฯ กระทรวงสาธารณสุข ทั้งที่แต่ละจังหวัดมีพื้นที่ไม่เหมือนกัน จึงขอเสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้โรงพยาบาลจ้างเอกชนออกแบบ เพื่อให้การออกแบบตอบโจทย์พื้นที่นั้น ตามแนวคิดให้คนในพื้นที่คิดเอง วางแผนเอง ส่วนกลางแค่สนับสนุน ไม่เช่นนั้นจะเป็นการตัดเสื้อโหลให้ใส่ ซึ่งสุดท้ายก็ใส่ได้บ้าง ใส่ไม่ได้บ้าง