วันนี้ (30 พ.ค.2563) นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.พลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงภาพรวมการอภิปรายตลอด 3 วันที่ผ่านมาว่า รัฐบาลใช้ไปแล้ว 13 ชั่วโมง 21 นาที 23 วินาที พรรคร่วมฝ่ายค้าน 14 ชั่วโมง 23 นาที 25 วินาที เป็นเวลาใกล้เคียงกัน ฝ่ายค้านเหลือเวลา 9 ชั่วโมง 36 นาที ส่วนรัฐบาลเหลืออยู่ 10 ชั่วโมง 38 นาที
ขอบคุณพรรคร่วมฝ่ายค้านและร่วมรัฐบาล ตลอด 3 วัน ไม่มีการประท้วง เป็นการอภิปรายที่เป็นไปด้วยดีมาโดยตลอด
ทั้งนี้ ประธานวิปรัฐบาล คาดการณ์ว่า หากภาพรวมการอภิปรายเป็นไปด้วยดีในลักษณะนี้ตลอดทั้งวัน ในวันพรุ่งนี้ (31 พ.ค.) จะสามารถเริ่มลงมติโหวต พ.ร.ก.ได้ทั้ง 3 ฉบับ ตั้งแต่เวลา 14.00 น.
"ยุทธพงศ์" ชี้ช่องโหว่เงินกู้ก้อนสุดท้ายแก้ปัญหาไม่ได้จริง
ขณะที่ช่วงเช้าที่ผ่านนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า รัฐบาลได้ขอออก พ.ร.ก.กู้เงินทั้งหมด 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในประเทศกรณีวิกฤต COVID-19 โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ 6 แสนล้านบาท สำหรับเยียวยา แจกจ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ในส่วนนี้ต้องสนับสนุนให้เร่งรีบดำเนินการเพื่อให้เงินไปถึงประชาชน แต่ข้อสังเกตที่ประชาชนพบคือ ปัญหาฐานข้อมูล โดยเฉพาะการคัดกรองซึ่งทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และกระทรวงเกษตรทำได้ล่าช้า จึงต้องฝากรัฐบาลให้เร่งดำเนินการเพื่อกระจายเงินให้ประชาชนอย่างทั่วถึง
ส่วนต่อมาคือเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งต้องนำไปใช้กระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็น 4 ส่วน ด้านเกษตรกรรม การท่องเที่ยว เศรษฐกิจชุมชน และโครงการพื้นที่ฐาน แต่มีข้อสังเกตว่า เงิน 4 แสนล้านบาทนั้นดูจะมีการเร่งรีบให้ส่งโครงการเพื่อนำเงินออกมาใช้มากเกินไป ล่าสุด มีหนังสือจากกระทรวงมหาดไทยออกเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา เร่งให้ท้องถิ่นรีบเสนอโครงการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 5 มิ.ย. ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่รอบคอบได้
การกู้ในครั้งนี้เป็น 4 แสนล้านบาทสุดท้ายแล้ว ไม่สามารถกู้ได้อีก เนื่องจากชนเพดานที่กฎหมายกำหนดให้กู้ได้ คำถามคือ 4 แสนล้านที่เร่งรีบนี้ จะเพียงพอต่อการนำมาแก้ไขและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสอยู่ในขณะนี้ได้จริงหรือ
สำหรับเงินอีก 5 แสนล้านบาท สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงซอฟโลน โดย พ.ร.ก.ฉบับนี้มีข้อกำหนดเงื่อนไขที่ไม่ตรงกับความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้จริง โดยเฉพาะการกำหนดสินเชื่อวงเงินต้องไม่เกิน 500 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมที่วงเงินลงทุนเกิน 500 ล้านบาทขึ้นไปทั้งหมดไม่ได้รับการช่วยเหลือแม้จะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยตรง
เงินจำนวน 5 แสนล้านบาทนี้ เป็นการให้กู้เพิ่ม ไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้เดิม ทั้งที่ทุกวันนี้เศรษฐกิจมีปัญหา ทำให้ผู้ประกอบการไม่มีเงิน แต่รัฐบาลกลับให้เขาสร้างหนี้เพิ่ม ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกภาระเพิ่มอีก
ส่วนดอกเบี้ยร้อยละ 2 ธนาคารพาณิชย์ที่รับซอฟโลนตรงนี้ก็ไม่ต้องการไปปล่อยต่อ เพราะดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งธนาคารยังต้องแบกภาระหากผู้ประกอบการยังไม่ฟื้น ก็ไม่สามารถคืนเงินภายใน 2 ปีได้ รัฐบาลควรไปตรวจสอบเงื่อนไขเหล่านี้ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะจะกลายเป็นการแก้ไขปัญหาที่ผู้ประกอบการเข้าไม่ถึงและแก้ปัญหาได้ไม่จริง
ขณะที่ พ.ร.ก.ช่วยหุ้นกู้และตราสารหนี้ 4 แสนล้านบาทนั้น ค่าใช้จ่ายแพงเกินไป ส่งผลให้เมื่อนำไปใช้จริง จะช่วยแก้ไขปัญหาไม่ได้จริง ขณะนี้เป็นวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ของโลกไม่ใช่ของไทยอย่างเดียว จึงต้องการให้รัฐบาลรอบคอบ เพราะ 1.9 ล้านล้านบาทเป็นเงินกู้รอบสุดท้าย ประเทศไทยที่ไม่สามารกู้มากกว่านี้ได้ ขอให้ใช้ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์ที่สุด