วันนี้ (30 พ.ค.2563) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เพื่อพิจารณากฎหมายว่าด้วยการเงิน 4 ฉบับ รวมวงเงิน 1.98 ล้านล้านบาทว่า ใน พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับ ขอเน้นเฉพาะ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 4 แสนล้านบาท เนื่องจากมองว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งนับจากนี้ไปที่จะต้องใช้เงินกู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดประสิทธภาพสูงสุด ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากสถานการณ์โควิด-19 ความเดือดร้อนเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าและเกิดขึ้นทุกภาคส่วนของสังคม จึงต้องออก พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ มาเพื่อใช้ในการเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม และดูแลทุกภาคส่วนในสังคมในรูปแบบต่างๆ
ทั้งนี้ ในเรื่องการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทในการดูแลเศรษฐกิจและสังคม อยากให้ใช้เงินกับเศรษฐกิจกับฐานรากอย่างแท้จริง เพราะประชาชนในชนบทจำนวนไม่น้อยได้อพยพเคลื่อนย้ายตัวเองมาอยู่ในสังคมเมือง มาอยู่ในชุมชนแออัดใหญ่ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ไม่มีงานทำ ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ สุดท้ายก็ไม่มีอาหาร พบว่ามีคนเข้าไปให้ความช่วยเหลือจำนวนมาก แต่ประชาชนจำนวนหนึ่งได้เคลื่อนย้ายตัวเองกลับไปสู่ชนบทอีกครั้ง เพราะหากยังอยู่ในสังคมเมืองต่อไป ก็ไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติเหมือนที่เคยเป็นมา
คนในชนบทส่วนหนึ่งยังต้องดิ้นรนในสังคมเมือง
ทั้งนี้ คนเหล่านี้เมื่อกลับไปสู่ชนบทแล้ว หวังว่าจะใช้ชนบทเป็นหลังพิงในการดำเนินชีวิตต่อไปส่วนหนึ่ง เพราะถ้าจะกลับมาในเมืองอีกก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่าจะกลับมามีอาชีพเหมือนเดิม มีรายได้เหมือนเดิม และมีอาหารที่พอจะยังชีพเหมือนเดิม คนส่วนหนึ่งจึงกลับไปมีหลังพิงในชนบท แต่ยังมีคนในชนบทอีกส่วนหนึ่งไม่มีโอกาสจะกลับไปชนบท ยังต้องอยู่ในเมืองต่อไป ยังต้องต่อสู้ดิ้นรนต่อไป เพราะฉะนั้นเงินในส่วนนี้ควรจะเข้าไปฟื้นฟูดูแลในส่วนของเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องความจำเป็นที่อยากจะฝากไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้
สำหรับความสำคัญของการใช้เงินในส่วนนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเม็ดเงิน 4 แสนล้านบาท จริงๆ แล้ว ไม่ได้เป็นเงินจำนวนมาก แต่ควรใช้เงินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งสิ่งที่มีความกังวลอย่างยิ่ง คือการใช้เงินนี้จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นไปอย่างโปร่งใสหรือไม่ ซึ่งความกังวลไม่เกินความจริง เพราะในระหว่างในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอยู่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา กลับพบว่ามีหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต คอร์รัปชัน
เผยข้อมูล ป.ป.ท.สอบทุจริต อปท.จัดซื้อจัดจ้าง
นายองอาจ กล่าวอีกว่า เมื่อวานนี้ (29 พ.ค.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่มีผู้แจ้งเบาะแสรวม 56 อปท. ใน 30 จังหวัด พบพฤติการณ์ความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้าง ป.ป.ท.ได้ตั้งข้อสังเกตถึง 16 ข้อ ว่าวิธีการในการทุจริตคอร์รัปชันมีอะไรบ้าง ซึ่งขอยกตัวอย่างเพียงข้อเดียว คือราคาจัดซื้อจัดจ้างสูงเกินจริง เมื่อเทียบกับราคาหรือคุณสมบัติของวัสดุในสั่งการในขณะนั้น ซึ่งสถานการณ์ที่คนกำลังยากลำบากจากโควิด-19 ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งทุจริตคิดมิชอบกับเงินภาษีอากรของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อราคาแอลกอฮอล์สูงเกินจริง ไม่นับรวมแคร์เซ็ต และถุงยังชีพ จำนวนมากที่ ป.ป.ท.กำลังดำเนินการและหลายเรื่องกำลังถูกส่งไปสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งโชคดีที่นายกรัฐมนตรีเอาจริงเอาจังกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
ทั้งนี้ มองว่าทั้งข้าราชการประจำและนักการเมืองมีโอกาสทุจริตด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งข้าราชการที่ดีก็มี และนักการเมืองที่ดีก็มี แต่ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันเมื่อเป็นข้าราชการแล้วจะโปร่งใสไร้ทุจริต ซึ่งในปี 2557-2561 ที่อยู่ในช่วงรัฐบาลที่ไม่มีนักการเมืองไปเกี่ยวข้อง เป็นรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ เป็นรัฐบาล 5 ปี ที่ไม่มีนักการเมืองไปเกี่ยวข้อง แต่มีทุจริตใหญ่จากข้าราชการทั้งนั้น ไม่มีนักการเมืองเลย ได้แก่ ทุจริตเงินช่วยเหลือบุคคลผู้ยากไร้ หรืออนาถา และทุจริตเงินทอนวัด ดังนั้น จึงไม่แปลกใจในความกังวลของผมและสมาชิกสภาอีกหลายคนว่าเงิน 4 แสนล้านบาท จะทำให้เกิดความโปร่งใสได้อย่างไร เพราะการพิจารณาสิ่งเหลานี้มาจากข้างบนเป็นส่วนมาก หน่วยงานต่างๆ เสนอโครงการไปยังคณะกรรมการฟื้นฟูฯ คณะกรรมการฟื้นฟูฯ ส่งไปคณะกรรมการกลั่นกรอง คณะกรรมการกลั่นกรองส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ครม.ส่งเรื่องไปยังกระทรวงการคลัง และกระทรวงการคลังอนุมัติเงินกู้ และออกมาใช้จ่ายตามโครงการต่างๆ
เสนอ 5 ข้อ ควบคุมดูแลใช้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน
ทั้งนี้ ขอฝาก 5 ข้อ เป็นข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้เงินก้อนนี้ คือ 1.ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำโครงการตามกรอบนโยบายที่มีคณะกรรมการกลั่นกรองกำหนดและควรเป็นโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ใช่เอาโครงการเก่ามาปัดฝุ่นใหม่และเอาโควิด-19 บังหน้า 2. ควรมีผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวกับการรต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกลั่นกรอง เพื่อช่วยหาวิธีป้องกันการทุจริต 3. แนวทางระเบียบวิธีการปฏิบัติเพื่อใช้เงิน 4 แสนล้านบาทของโครงการต่างๆ ต้องชัดเจนไม่คลุมเครือ จนอาจจะนำไปสู่การตีความเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
นายองอาจ กล่าวอีกว่า 4. ขอให้เปิดเผยการใช้เงินของโครงการต่างๆ ทุกบาททุกสตางค์ ให้ประชาชนตรวจสอบได้ตลอดเวลาแบบเรียลไทม์ออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และ 5. ด้วยจากเป็นการใช้เงินกู้ในสถานการณ์พิเศษ นายกรัฐมนตรีควรตั้งคณะทำงานชุดพิเศษรับเรื่องร้องเรียนการทุจริตจากประชาชนโดยตรง และมีมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนให้ปลอดภัย ซึ่งขอฝากให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารในการใช้จ่ายเงินกู้ 4 แสนล้าบาท มีการใช้จ่ายเงินกู้นี้อย่างจริงจัง ให้มีการใช้เงินอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม อย่าปล่อยให้มีการทุจริตโดยเด็ดขาด ขอให้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทนี้และเงินกู้ทุกบาททุกสตางค์ เป็น พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง